วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

คณะวิทยาศาสตร์ เคมี เรียนอะไร ทำงานอะไร

- ตอนนี้กำลังเรียนคณะอะไร สาขาอะไรอยู่?
คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ฮับผม

- สาขาที่เรียน เรียนยังไง เรียนอะไรบ้าง?
เรียนยากมากก อ๊ะ ไม่สิ นี่ไม่ใช่ประเด็น
คือ วิทยาศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่หาความจริงของธรรมชาติฮับ
ดังนั้น จะต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีให้เกิดความเข้าใจพร้อมกับเรียนภาคปฏิบัติให้เกิดความชัดเจน
จึงอาจกล่าวได้ว่า มีการเรียนแบบเลคเชอร์(กลุ่มใหญ่เล็กแล้วแต่วิชา) ผสมกับการเรียนแลบฮับ

เฉพาะสาขาของเคมี แบ่งได้ 4.5 สาขาฮับ คือ
analytical chemistry - เคมีวิเคราะห์ = เป็นสายตรวจวัด ตรวจจับ หาวิธีวิเคราะห์จำนวนสารเคมีอะไรแบบนั้นฮับ
organic chemistry - เคมีอินทรีย์ = เรียนสารประกอบไฮโดรคาร์บอน(คนโบราณเค้าถือว่าเป็นสารที่พบในสิ่งมีชีวิตเท่านั้น ศาสตร์นี้เลยเรียกว่าเคมีอินทรีย์) อย่างลึกซึ้งเลยฮับ
inorganic chemistry - เคมีอนินทรีย์ = เรียนสิ่งที่เคมีอินทรีย์ไม่สนใจ ...ฟังดูกวนอวัยวะเบื้องล่างชะมัด
physical chemistry - เคมีฟิสิกส์ = ...อันนี้เค้าเรียนอะไรกัน ข้าน้อยก็ไม่เข้าใจฮับ 5555 แต่เป็นสาขาที่เอาฟิสิกส์ กับ เคมี มาเรียนผสมกัน ลึกซึ้งยิ่งนักฮับ
biochemistry - ชีวเคมี = อันนี้ก็เรียนสารเคมีในกระบวนการต่างๆของสิ่งมีชีวิตฮับ แต่เนื่องจากมันเป็นครึ่งทางระหว่างชีววิทยา กับ เคมี ปัจจุบัน ทางคณะจึงแยกสาขานี้ไปเรียนต่างหาก ไม่รวมกับเคมีอีกต่อไปฮับผม

...อย่างไรก็ตาม ในระดับปริญญาตรี เด็กเคมีต้องเรียนหมดทั้ง 4 สาขาเลยฮับ มาเป็น package สยองขวัญเลยทีเดียว แล้วค่อยรอตอนเรียนในระดับปริญญาโท - เอก ค่อยทำการแยกสาขาที่เรียนอย่างชัดเจนฮับผม

หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วเรียน 4 สาขานี่ ไม่ตายเลยเร้อะ เรียนเคมี ม.ปลายก็จุกจะแย่อยู่แล้ว
เรื่องนั้น ทางคณะเลยมีการจัดตารางเรียนมาแบบนี้ฮับ


ปี 1 เรียนวิชาปูพื้นฐานของคณะฮับอันได้แก่

เลคเชอร์ : แคลคูลัส ภาค 1 และ 2 ฟิสิกส์พื้นฐาน ภาค 1 และ 2 เคมีพื้นฐาน ภาค 1 และ 2 ชีววิทยาพื้นฐาน ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ภาค 1 และ 2

แลบ : แลบฟิสิกส์ ภาค 1 และ 2 แลบเคมี ภาค 1 และ 2 แลบชีววิทยา ...ซึ่งจะเรียนควบไปกับวิชาเลคเชอร์ฮับผม

ปีแรกนี่ รายละเอียดมีไม่เยอะฮับ เป็นการเอา ม.ปลาย มาเล่าใหม่อีกครั้งแบบรวบรัด (และอาจรัดคอถึงตายได้) แอดมิชชัน หนที่ 2 ชัดๆฮับ ปีนี้


ปี 2 เรียนวิชาใหม่ๆทางเคมีกันบ้างฮับ เป็นการปูพื้นพร้อมๆกับเปิดโลกให้เห็นเคมีแบบกว้างๆ
อันได้แก่เลคเชอร์ :
เคมีอินทรีย์ ภาค 1 และ 2
- ผสมความรู้จากเคมีพื้นฐานเข้ามาให้เกิดความเข้าใจกับไฮโดรคาร์บอนฮับ เรียนวิชานี้จบไป น่าจะไปเรียนต่อที่เส้าหลินได้ เพราะจะเชี่ยวชาญใน 108 กระบวนท่าปฏิกิริยาเคมี ไม่ว่าจะเป็น แอลกอฮอล์ เอมีน เอไมด์ กรดคาร์บอกซิลิก อ๊ะ เอ๊ะ มีใครเริ่มน้ำลายฟูมปากไปรึยังฮับ? ขออภัยด้วย คนมันอัดอั้นตันใจฮับ T^T ...จัดเป็นวิชาสายท่องจำขนานใหญ่เลยล่ะฮับ
เคมีฟิสิกส์ ภาค 1 และ 2 - ...อ่า... ใครเก่งเคมีเจอฟิสิกส์เชือด ใครถนัดฟิสิกส์โดนเคมีฆ่า ใครพอไปวัดไปวาทั้งสองอย่าง ก็จะได้ไปวัดจริงๆ (เพราะมันรวมพลังกันแล้วยากขึ้นมากมาย) เหลือแต่เทพและปีศาจเท่านั้นที่เรียนแล้วรู้เรื่องฮับ (แต่วิชานี้ ถ้าสอบกลางภาคยากมากๆ สอบปลายภาคจะง่ายฮับ นับว่าเป็นความเมตตายิ่งยวดของท่านอ.)
เคมีวิเคราะห์ ภาค 1 และ 2 - เป็นวิชาที่เข้าใจได้ง่าย แต่คำนวณได้ยากฮับ จากโจทย์หนึ่งข้อ สามารถทำให้เรากดเครื่องคิดเลขแล้วก็ยังไม่ทันได้ด้วยล่ะ โดยจะเริ่มเน้นทาง สถิติกับเคมี เคมีไฟฟ้า กรดเบสและการไทเทรต เคมีกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ประมาณนี้ล่ะฮับ ...สมัยข้าน้อยเรียน วิชานี้ทำลายสถิติโลกด้วยการแจกข้อสอบ 26 หน้าด้วยล่ะฮับ อ่อ เวลาสอบ 3 ชม.นะฮับ ไม่ใช่หนึ่งวันเต็มๆ... อุเหม่ อ.ท่านช่างขี้เล่นได้อีก
เคมีอนินทรีย์ ภาค 1 - วิชาลูกเมียน้อยฮับ เริ่มเรียนเทอมสอง เป็นสายวิชาที่เปิดตัวมาได้น่ากลัว เพราะสนใจสมมาตรกับภาพสามมิติ ทำเอาเด็กวิทยาที่อ่อนด๋อยเรื่องศิลปะชักแหง็กๆได้ฮับ
คณิตศาสตร์สำหรับนักเคมี - เป็นวิชาเลขที่เกิดมาเพื่อ(ฆ่า)เด็กเคมีโดยเฉพาะฮับ เกิดจากการที่เคมีบางสาขาต้องใช้คณิตศาสตร์ลึกซึ้งมากๆ เลยต้องมีการประยุกต์ แคลคูลัส 3, 4 และ ระดับสูง คัดกรองออกมาให้เหลือเฉพาะเรื่องที่เด็กเคมีควรรู้ แล้วเอามาสอนกันฮับ
ความปลอดภัยกับเคมี - เป็นวิชาที่เรียนชิลๆฮับ แต่ใช้ประโยชน์จริงได้เยอะ เป็นการเตือนภัยว่า สารเคมีมันอันตรายนะเออ อย่าทำเล่นๆไป มีตั้งแต่สอนดูฉลากสารเคมี ไปจนถึงการแต่งกายเพื่อเข้าห้องแลบอย่างปลอดภัยฮับ
การเขียนโปรแกรมพื้นฐาน และ ภาษาอังกฤษตัวแม่ - วิชาบังคับของคณะฮับ เพิ่มเติมขึ้นมา เนื่องจากอัดในปี 1 ทีเดียวไม่ไหวฮับแลบ :
แลบเคมีอินทรีย์ ภาค 1 และ 2
- หลอกหลอนมาพร้อมๆกับวิชาเลคเชอร์ฮับ เป็นวิชาที่สารเคมีกลิ่นแรงจนทำให้ข้าน้อยกลัวกลิ่นแอลกอฮอล์ไปตลอดชีวิต และยังต้องทำรายงานอย่างหนาด้วยฮับ ฝึกความอึดกันสุดๆไปเลย
แลบเคมีวิเคราะห์ ภาค 1 - โผล่มาเทอมสองฮับ รอจนน้องๆผ่านเทอม 1 ที่น้องๆมักจะถือว่าหนักแล้ว ให้หนักขึ้นไปอีกระดับนึง มีข่าวลือๆอยู่เหมือนกันฮับว่า ภาควิชาคงอยากฝึกเด็กให้อึดจนแข่งยกน้ำหนักเหรียญทองไหว ...อ่า แลบตัวนี้ ทำง่าย แต่รายละเอียดเยอะมาก ฝึกฝีมือในการใช้อุปกรณ์และความละเอียดแบบสุดฤทธิ์ฮับ
- สาขาที่เรียนเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง?
ถามกลับดีกว่า มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่ใช่สารเคมีบ้างล่ะฮับ เอิ๊กๆๆๆ
ก็ ถ้านำไปใช้ตรงๆเลย คงเป็นนักวิชาการ กับ นักวิจัยอ่ะฮับ
ประยุกต์สักนิดนึง จะเข้าทางสายโรงงานและนักพัฒนาทันทีฮับ เพราะตั้งแต่ ยา กระดาษ สี ปูน ยาง ฯลฯ นักเคมีเราทำได้หมดฮับ
ประยุกต์มากกว่านั้นไปอีก คือ เอา"ความมีเหตุผล"ของนักวิทยาศาสตร์ไปใช้ฮับ อันนี้ใช้ทำอะไรก็ได้เลยล่ะฮับ ยกเว้นเอาไปสู่ขอคู่ครอง :P

- บอกเคล็ดลับการเรียนในสาขานี้อย่างคนมีกึ๋นมา 1 ข้อ
ในเมื่อสารพัดวิชามันซัดเข้ามาเป็นหมู่คณะ เวลาจะเรียนก็ต้องรวมพลังกันเรียนฮับ ในภาคนี่แทบจะแบ่งหน้าที่กันเลย ใครเก่งอันไหน ช่วยติวอันนั้น ...แล้วคนไม่เก่งล่ะ? อย่าน้อยใจฮับ มีหน้าที่นอกเหนือจากเรื่องเรียนอีกเยอะฮับ อิอิ ...มาเรียนสาขานี้แล้ว ซาบซึ้งกับคำว่าเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อย่างมากมายฮับ

- อยากบอกน้องๆ ที่จะเลือกคณะนี้ว่า??
พี่อยากให้น้องๆที่เข้ามาเรียนในคณะนี้ สาขานี้ เป็นสาวๆสวยๆที่ยังโสดเป็นคนที่มีความตั้งใจไม่ย่อท้ออ่ะฮับ
วิชาต่างๆ การเรียน กิจกรรม มันมีเยอะจนหลายคนแค่เห็นก็ห่อเหี่ยวแล้ว แต่ใจจริง ข้าน้อยอยากให้เห็นแล้วเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับสิ่งที่จะเข้ามาอย่างรู้เท่าทันน่ะฮับผม
...เชื่อว่าหลายคนอ่านแล้วจะรู้สึกว่ากลัวจะลำบาก... แต่ ทุกๆคณะก็มีความยากในแบบของตัวมันเองแหล่ะฮับ และคนที่หนีกหนีความยาก หลบเลี่ยงความลำบากนี้ไป ก็เหมือนทิ้งความสำเร็จในชีวิตไปจากมือซะแล้ว เพราะคำว่าความสำเร็จ มันไม่มีทางลัดให้ได้มาหรอกนะฮับ ต้องทำด้วยตัวเองทั้งนั้นล่ะฮับผม ...เป็นกำลังใจให้กับน้องๆที่สนใจจะเข้ามาฮับ... ^^

โอ่ย ยาวแล้วล่ะ ข้าน้อยว่า พอแค่นี้ดีกว่าฮับ
สุดท้ายนี้ก็อยากบอกว่า ... เด็กวิทยาฯเท่กว่าที่คิดนะฮับน้อง 55555

....ข้าน้อยไม่ส่ง tag ต่อละกันฮับ
...เชื่อว่า ตอนนี้คงโดนกันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วล่ะฮับ อิอิ

ขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน และทุกๆคอมเมนท์ฮับ

edited : ใส่สี(แยกตามความโหดด้วยนะฮับ)และแยกบรรทัดให้อ่านง่ายขึ้น ตามที่คุณ skykid #1 แนะนำไว้แล้วนะฮับ

edited 2 : เพิ่มวิชาแลบเคมีฟิสิกส์ ภาค 1 ให้เป็นวิชาบังคับปี 3 ตามที่น้องเก็จ #6+9 ได้แจ้งให้ทราบ ...ขอบคุณฮับ พอดีข้าน้อยเป็นรุ่นสุดท้ายก่อนเปลี่ยนหลักสูตรมาเป็นแบบปัจจุบันน่ะฮับ แหะๆ


ปี 3 เรียนต่อยอดจาก ปี 2 พร้อมๆกับมีเริ่มให้ลงวิชาเลือก เพื่อส่งเสริมความถนัดเฉพาะสาขาแล้วล่ะฮับอันได้แก่เลคเชอร์ :
เคมีอินทรีย์ ภาค 3
- เป็นตัวจบของไตรภาคเคมีอินทรีย์ฮับ เป็นการทวนของเก่าจากภาค 1 และ 2 ให้เปลี่ยนโฉมจากวิชาท่องจำมาเป็นวิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจฮับ รายละเอียดวิชานี้ไม่แน่ชัดฮับ เนื่องจากตอนข้าน้อยเรียน มันแยกเป็นภาค 3 และ 4 แต่ภายหลังค่อยมารวบรัดเข้า เลยไม่รู้ว่ามีการตัดทอนอะไรออกไปบ้างรึเปล่าเคมีฟิสิกส์ ภาค 3 - ตัวนี้โศกนาฏกรรมฮับ... เพราะมีการจับคู่ดูโอของ อ.สุดโหดเข้าด้วยกันทั้งครึ่งแรกและครึ่งหลัง หึหึ ความยากระดับสิบกะโหลกเลยฮับผมเคมีอนินทรีย์ ภาค 2 และ 3 - พึ่งเรียนตามหลังมาฮับ จะเรียนเกี่ยวกับโลหะและตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งออกไปทาง สารประกอบเชิงซ้อน (ซับซ้อนยิ่งนักฮับ) และ สารประกอบโลหะอินทรีย์ (เอาโลหะมาผสมกับสารในเคมีอินทรีย์ โอ้ แม่เจ้า!) ทำเอาสะอึกได้เลยทีเดียวฮับผมเคมีวิเคราะห์ระดับสูง - เรียนเกี่ยวกับ การแยกสาร การเตรียมสาร และเทคนิคต่างๆที่ใช้ในการวิเคราะห์สารเพิ่มเติมขึ้นมาอีกฮับผม ...ไม่แน่ใจว่า วิชานี้ตอนนี้จัดเป็นวิชาเลือกให้กับคนที่สนใจทางเคมีวิเคราะห์แล้วรึยังนะฮับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ - แต่ก่อนเป็นวิชาเลือกฮับ ภายหลังเห็นว่าเนื้อหาสำคัญ เลยเอาไปทำเป็นวิชาบังคับ ซึ่งจะเรียนถึงเทคนิคหลักๆที่ใช้ในการวิเคราะห์หาชนิดของสาร วิชานี้เด่นมากๆ เพราะถ้าเก่งกาจแล้วล่ะก็ สามารถบอกได้เลยล่ะฮับ ว่าสารนั้นสารนี้เป็นสารอะไร โดยวิธีที่ใช้วิเคราะห์ส่วนใหญ่จะใช้กับสารอินทรีย์ฮับ
แลบ :
แลบการใช้เครื่องมือทางเคมี ภาค 1 และ 2
- หลังจากเรียนทฤษฎีว่า มีวิธีการนั้นๆนี้ๆ อันนี้จะรวมเครื่องมือที่มีอยู่ในภาควิชา มาให้ลองใช้กันฮับ เครื่องมือบางชิ้นราคาถึง 8 หลักก็มีนะฮับ ...ทำแลบแล้วต้องระวังสุดชีวิตเลยฮับ เนื่องจาก หลายชิ้นก็เปราะบางอยู่ อาจเรียนจบพร้อมกับอับจนได้ หากทำเครื่องมือพังฮับแลบเคมีอนินทรีย์
- คล้ายๆจะเรียนเพราะกลัวน้อยหน้าสาขาอื่นไงไม่รู้ฮับ เอิ๊กๆๆๆ มีหัวข้อที่น่าสนใจอย่างการสังเคราะห์ผลึกของสารด้วยล่ะฮับ ออกมาแล้วก็สวยดี น่าทึ่งๆแลบเคมีฟิสิกส์ ภาค 1 - แลบตัวนี้แปลกมากฮับ ตอนเรียนน่ะ ยากมาก แต่แลบนี้ 80%จะทำเสร็จได้ภายใน 2 ชม. แต่... นรกจะเกิดขึ้นตอนเขียนรายงานผลการทดลองฮับ คนส่วนมากจะเขียนไม่ถูกเนื่องจากไม่รู้จะเอาอะไรจากวิชาเลคเชอร์มาเขียน(ข้าน้อยก็ด้วย หัวกลวงกับวิชาสายฟิสิกส์มากๆฮับ 5555) ...และหากใครที่สนใจทางนี้จริงๆ กลัวไม่จุใจ ก็มีภาค 2 ให้เรียนเพิ่มอีกเป็นวิชาเลือกฮับ

นอกจากนั้นจะเป็นวิชาเลือกสำหรับคนที่สนใจเฉพาะทางแล้วมากกว่า เช่น การวิเคราะห์ทางกายภาพของเคมีอนินทรีย์ เคมีกับอุตสาหกรรม การใช้โปรแกรมเพื่อวาดโครงสร้างโมเลกุล เคมีกับเอ็กซ์เรย์ การหาข้อมูลทางเคมี การสังเคราะห์ยา แลบเคมีอินทรีย์ระดับสูง แลบเคมีฟิสิกส์ภาค 2 และอื่นๆอีกมากมายให้เลือกสรรฮับ ... แต่อันนี้ขึ้นกับดวงนิดนึง ว่าปีนั้นจะเปิดวิชาอะไรให้เลือกบ้างฮับ
นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมีการฝึกงาน(บังคับไปเปิดหูเปิดตา) และ เลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้วยฮับ

ปี 4 ไม่ค่อยเหลือวิชาบังคับแล้วฮับ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทำวิทยานิพนธ์มากกว่า(เพราะลำพังทำอย่างเดียวก็แย่แล้วฮับ หลายคนอาจมีประสบการณ์้กลับบ้านดึกดื่นและเจอเรื่องหลอนๆก็ปีนี้ล่ะฮับ)
วิชาบังคับหลักๆของปีนี้ จะเป็นการสัมมนาฮับ คือ เอาหัวข้อวิจัยของคนอื่นมาศึกษา และนำมาเล่าสู่กันฟังในเชิงวิชาการ ...แอบกระซิบนิดนึงว่า อ.เข้าฟังด้วยล่ะฮับ สภาพตอน อ.ยกมือถามนี่ ยังกะสมรภูมิรบฮับผม (นึกสภาพนะฮับ ตอนคนออกไปให้สัมมนา ก็เหมือนยกโล่ติดตัวไปอันนึง ไอตอนที่เพื่อนๆถามนี่ ก็แค่หยิบปืนลม ปินพก มายิงกัน กันได้สบายๆ(ถ้าเพื่อนไม่โหดเกินไป) แต่พอท่าน อ. สงสัยนี่ล่ะฮับ... หึหึ ปืนลูกโม่ เอ็ม-16 และปืนเจาะเกราะรถถังมาเองฮับ)

จบ 4 ปีมาได้ จะรู้สึกว่าแกร่งขึ้นอย่างแรงฮับผม 555555+

ความปลอดภัยในโรงงานผลิต กรด-ด่าง

คู่มือความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรด-ด่าง

                                นับช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้มีการผลิตสารเคมีซึ่งมีคุณสมบัติไวไฟระเบิดได้  เป็นพิษ  กัดกร่อน  เป็นต้น  โรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรด - ด่าง  เช่น  กรดกำมะถัน (Sulfuric acid ; H2SO4)  กรดเกลือ (Hydrochloric acid ; HCl)  กรดดินประสิว (Nitric acid ; HNO3)  กรดกัดแก้ว (Hydrofluoric acid ; HF)  โซดาไฟ (Sodium hydroxide ; NaOH)  เป็นโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานที่ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการอุตสาหกรรมประเภทอื่นอย่างต่อเนื่อง  สถานที่ตั้งโรงงานเหล่านี้มักอยู่กระจัดกระจายทั้งในปริมณฑลและต่างจังหวัด


                              



     โรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรด-ด่างจัดได้ว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่งที่มีอันตรายค่อนข้างสูง  มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย  ระเบิด  สารเคมีที่เป็นพิษและกัดกร่อนจากการรั่วไหล  อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งโรคอันเนื่องจากการทำงานได้  หากขาดมาตรการในการจัดการและดำเนินการที่ปลอดภัยรวมทั้งความรู้เบื้องต้นถึงอันตรายและการป้องกันอันตรายจากสารเคมีแต่ละชนิด  ดังนั้น  คู่มือความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมกรด-ด่าง  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติทางด้านความปลอดภัย  ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย  ในส่วนของการผลิต  การจัดเก็บ  การขนส่งและการใช้อย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติภัยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
ความหมายของกรด-ด่าง
                                กรด-ด่าง หรือสารกัดกร่อน  หมายถึง  สารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนต่อโลหะ  หรือทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อ  ผิวหนังเมื่อสัมผัสโดยตรงหรือจากการสูดดมหายใจเข้าไป  ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีนั้น ๆ
                                กรด  (Acid)  มาจากภาษาลาตินคำว่า  acidus  แปลว่า  เปรี้ยว  ซึ่งเป็นคุณสมบัติประจำตัวของกรดแต่ทางเคมีหมายถึงสารที่ให้โปรตรอน  (H+)  เช่น

                                                                HCl                         H+ + Cl-
                                                                H2SO4                    2H+ + SO4=

                                กรดแบ่งออกเป็น 2 จำพวก
  • - กรดอนินทรีย์ (Inorganic acid) เช่น กรดกำมะถัน กรดเกลือ กรดดินประสิว กรดกัดแก้ว
  • - กรดอินทรีย์ (Organic acid) ที่มี Carboxylic group (-COOH) เช่น Acetic acid, Formic acid, Lactic acid, Lavric acid, Maleic acid เป็นต้น
กรดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
          - กรดแก่ หมายถึง กรดที่สามารถให้โปรตรอนออกมาได้มากหรือแตกตัวเป็นอิออนได้อย่างสมบูรณ์
          - กรดอ่อน นั้นจะแตกตัวเป็นอิออนได้ไม่สมบูรณ์
            กรดเข้มข้น  หมายถึง  กรดที่มีจำนวนโมลของกรดมากใน 1 หน่วยปริมาตรของน้ำ 
            ความแรงของกรดพอจะจัดลำดับ  ได้ดังนี้
                HClO4 ,  H2SO4 , HCl , HNO3 , H3PO4 , HNO2 , HF , CH3COOH , H2CO3 , HCN , H3BO3
                                                มาก                                 ความแรง                             น้อย

                                กรดเจือจางทำได้โดยการเทกรดลงในน้ำอย่างช้า ๆ  พร้อมทั้งกวนให้เข้ากันหรือที่เรียกกันว่าการละลายกรดในน้ำจะเกิดความร้อนขึ้น  ความร้อนนั้นจะแพร่กระจายไปทั่วในน้ำ  กฎข้อห้ามจะไม่เทน้ำลงในกรด
                                ด่างที่มีฤทธิ์กัดกร่อนมากส่วนใหญ่จะเป็นสารอนินทรีย์  ด่างที่เข้มข้นมากจะเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อ  เช่น  โซเดียมไฮดรอกไซด์  แอมโมเนีย  ด่างจะเป็นอันตรายต่อตามากกว่ากรด
การจำแนกสารเคมีตามลักษณะและรูปร่างได้ดังนี้
                                1. ฝุ่น (Dust)  หมายถึง  สารเคมีที่เป็นอนุภาคของแข็งที่มีขนาดเล็ก ๆ เกิดขึ้นจากการที่ของแข็งถูกบด  ตี  กระแทก  เช่น  ฝุ่นกำมะถันดิบ  ฝุ่นเกลือ  ฝุ่นแร่สปาร์ (CaF2)  เป็นต้น
                                2. ฟูม (Fume)  หมายถึง  อนุภาคที่เป็นของแข็งซึ่งมีขนาดเล็ก ๆ  เกิดจากการกลั่นตัวของไอโลหะ เมื่อโลหะได้รับความร้อนจากการหลอมเหลว  เช่น  ฟูมตะกั่ว  ฟูมสังกะสี  เป็นต้น
                                3. ละออง (Mist)  หมายถึง  อนุภาคเล็ก ๆ ที่เป็นของเหลวและแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศ เกิดจากการที่ของเหลวได้รับความดันจนเกิดการแตกตัวของอนุภาค  บางครั้งละอองเล็ก ๆ อาจเกิดจากการกลั่นตัวของไอหรือก๊าซก็ได้  เช่น  ละอองเล็ก ๆ ที่เกิดจากไอของกรดกำมะถัน  เป็นต้น
                                4. ไอระเหย (Vapor)  เป็นลักษณะของไอหรือก๊าซที่เกิดจากของเหลวหรือของแข็งเปลี่ยนสถานะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและ/หรือมีการเปลี่ยนแปลงความดัน  เช่น  ไอระเหยของน้ำมันเบนซิน  ทินเนอร์  แอลกอฮอล์  เป็นต้น
                                5. ก๊าซ (Gas)  หมายถึง  ของไหลที่ไม่มีรูปร่างที่แน่นอนขึ้นอยู่กับภาชนะที่ใช้บรรจุ  สามารถเปลี่ยนเป็นของเหลวหรือของแข็งได้โดยการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและ/หรือความดัน  เช่น  ก๊าซไฮโดรเจน  ไฮโดรเจนซัลไฟด์  ซัลเฟอร์ไดออกไซด์  แอมโมเนีย  เป็นต้น
                                6. ของเหลว (Liquid)  หมายถึง  ของไหลที่เป็นของเหลวมีรูปร่างไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับภาชนะที่ใช้บรรจุ  เช่น  กรดกำมะถัน  กรดไนตริก  กรดเกลือ  เป็นต้น

การเข้าสู่ร่างกายของสารเคมี  (Route of entry)  สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ทางใหญ่ ๆ ด้วยกัน  คือ
                                1. โดยทางหายใจ (Inhalation) เป็นทางเข้าสู่ร่างกายของสารเคมีมากที่สุด  สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทุกประเภท  ทั้งนี้  เนื่องจากการเปรอะเปื้อนของสารเคมีในบรรยากาศและมนุษย์ต้องหายใจอยู่ตลอดเวลา
                                2. โดยการกิน (Ingestion)  เป็นทางเข้าสู่ร่างกายของสารเคมีน้อยมาก  สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทุกประเภท  นอกจากการเกิดอุบัติเหตุ  การขาดสุขอนามัย  เช่น  ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร  ดื่มน้ำหรือสูบบุหรี่ขณะปฏิบัติงาน
                                3. โดยการดูดซึมทางผิวหนัง  (Dermal absorption)  ปกติผิวหนังจะมีชั้นไขมันทำหน้าที่ป้องกันการดูดซึมของสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย  แต่กรด-ด่าง  มีฤทธิ์กัดกร่อนสามารถทำลายผิวหนังและชั้นไขมันทำให้ผิวหนังเป็นแผลไหม้  เกิดการระคายเคือง  อาการคัน  แสบร้อนและผิวหนังอักเสบตรงบริเวณนั้น ๆ

หลักในการป้องกันอันตรายจากสารเคมี
                                1. การป้องกันที่แหล่งกำเนิด (Source)  เป็นหลักการทั่วไปที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก  ทั้งนี้ถือว่าเป็นการป้องกันที่ให้ประสิทธิภาพมากที่สุด  และเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร  แต่มีข้อจำกัดต้องลงทุนสูงและใช้เทคนิคที่ยุ่งยาก  วิธีป้องกันอันตรายที่แหล่งกำเนิดมีดังต่อไปนี้
                                                1.1 ใช้สารเคมีอื่นที่มีพิษน้อยกว่าแทน  เช่น  การใช้สารไซลีนแทนสารเบนซิน เพราะสารไซลีนมีอันตรายต่อเม็ดเลือดน้อยกว่าสารเบนซินมาก  แต่มีคุณสมบัติเป็นตัวละลายได้เหมือนกัน
                                                1.2 เปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่  เช่น  เซลไฟฟ้าแบบปรอท (Mercury cells)  มีปรอทออกมาและเซลไฟฟ้าแบบไดอะแฟรม (Diaphragm cells)  มีฝุ่นแอสเบสตอสออกมาอาจเกิดอันตรายกับสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมได้  จึงเปลี่ยนกระบวนการผลิตมาใช้เซลไฟฟ้าแบบเมมเบรน (Membrane cells)  เป็นต้น
                                                1.3 แยกกระบวนการผลิตที่มีอันตรายออกต่างหาก  ทั้งนี้  เพื่อกำจัดการฟุ้งกระจายไม่ให้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง  เช่น  การแยกบริเวณที่มีฝุ่นมากออกต่างหาก  แยกบริเวณที่มีก๊าซไฮโดรเจนออกจากบริเวณที่เป็นแหล่งประกายไฟ  ความร้อน  เป็นต้น
                                                1.4 การสร้างภาชนะปกปิดกระบวนการผลิตหรือแหล่งของสารเคมีให้มิดชิด  ทั้งนี้  เพื่อไม่ให้สารเคมีฟุ้งกระจายออกไปยังบริเวณโดยรอบ
                                                1.5 การติดตั้งระบบดูดอากาศเฉพาะที่  เช่น  การสร้างประทุน (Hood) ดูดไอกรดจากการบรรจุเพื่อไปกำจัดในระบบกำจัด (Wet scrubber) ต่อไป
                                                1.6 การบำรุงรักษาเครื่องจักร  อุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ดี  สะอาดและเรียบร้อยอยู่เสมอ  ทั้งนี้  เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีแพร่กระจายหรือรั่วไหลออกไปหรือเป็นที่สะสมของสารเคมีต่าง ๆ
                                2. การป้องกันที่ทางผ่าน (Path)  ควรพิจารณาเป็นอันดับสองรองจากการป้องกันที่แหล่งกำเนิดไม่สามารถดำเนินการได้
                                                2.1 การบำรุงรักษาสถานที่ทำงานให้สะอาดเรียบร้อย  เพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของสารเคมี  เช่น  บริเวณทำงานที่มีฝุ่นมาก  ถ้าไม่ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอปล่อยให้ฝุ่นสะสมอยู่ตามที่ต่าง ๆ เมื่อเกิดกระแสลมพัดก็จะฟุ้งกระจายไปทั่ว
                                                2.2 ติดตั้งระบบระบายอากาศทั่วไป  ซึ่งอาจจะเป็นวิธีทางธรรมชาติ  เช่น  มีประตู  หน้าต่างและช่องลมช่วยระบายอากาศหรืออาจเป็นวิธีใช้เครื่องกล  เช่น  การใช้พัดลมเป่าดูดอากาศออกจากบริเวณนั้น ๆ ซึ่งวิธีปกติ Plant ผลิตกรด-ด่าง จะถูกออกแบบให้อยู่กลางแจ้งเพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดีตามธรรมชาติ
                                                2.3 เพิ่มระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารเคมีกับตัวบุคคลที่อาจได้รับอันตรายจากสารเคมีให้ห่างกันออกไปมากขึ้นเพราะสารเคมีจะมีอันตรายหรือความเข้มข้นน้อยลงไปเรื่อย ๆ เมื่อผู้ปฏิบัติงานเดินออกห่างจากแหล่งกำเนิดเรื่อย ๆ หรือปฏิบัติงานในห้องควบคุม (Control room)
                                                2.4 การตรวจหาระดับหรือปริมาณของสารเคมีในบรรยากาศของการทำงานเป็นประจำ  ทั้งนี้  เพื่อเปรียบเทียบความเข้มข้นของสารเคมีนั้น ๆ กับมาตรฐานความปลอดภัย ถ้าตรวจพบว่าปริมาณของสารเคมีในบรรยากาศมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยต้องรีบหาทางปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว
                                3. การป้องกันอันตรายที่ตัวคน  (Personal or Receiver)
                                การป้องกันอันตรายที่ตัวบุคคลนั้นควรจะพิจารณาเป็นอันดับสุดท้าย  ทั้งนี้  เพราะถึงแม้จะมีข้อดี  คือ  เสียค่าใช้จ่ายต่ำและปฏิบัติง่าย  แต่พบว่าเป็นวิธีที่ให้ประสิทธิภาพต่ำมาก  ยากในการควบคุมและเป็นการแก้ไขแบบไม่เบ็ดเสร็จ  หลักทั่วไปในการป้องกันอันตรายที่ตัวบุคคลมีดังต่อไปนี้
                                                3.1 การให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่ผู้ปฏิบัติงานให้ทราบถึงอันตรายจากสารเคมีที่กำลังเกี่ยวข้องอยู่  ตลอดจนให้ทราบถึงวิธีการป้องกันอันตรายจากสารเคมีนั้น ๆ รวมทั้งต้องมีการติดตามผลอยู่เสมอ
                                                3.2 การลดชั่วโมงการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายให้สั้นลง  ทั้งนี้  เพราะอันตรายจากสารเคมีนั้นนอกจากจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารเคมีและองค์ประกอบอื่น ๆ แล้วยังขึ้นกับระยะเวลาที่ได้รับหรือสัมผัสกับสารเคมีนั้น ๆ ด้วย
                                                3.3 การหมุนเวียนหรือสับเปลี่ยนหน้าที่การปฏิบัติงาน  โดยให้พนักงานได้รับสารเคมีในบางโอกาสเท่านั้น  ไม่ใช่ประจำอยู่หน้าที่เดียวตลอดไป  เพราะจะช่วยให้การได้รับอันตรายถูกแบ่งออกไปยังพนักงานต่าง ๆ ทำให้พนักงานแต่ละคนมีเวลาขับสารเคมีออกจากร่างกายมากขึ้น  เนื่องจากระยะเวลาที่ได้รับสารเคมีจะสั้นลง  วิธีนี้อาจมีขีดจำกัดในทางปฏิบัติเพราะการปฏิบัติงานบางชนิดจะไม่สามารถหมุนเวียนกันได้  เช่น  งานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษสูง  แต่ถ้าหมุนเวียนพนักงานได้ก็จะช่วยลดอันตรายลงได้วิธีหนึ่ง
                                                3.4 การให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานอยู่ในห้องควบคุมพิเศษ  เช่น  อยู่ในห้องปรับอากาศเพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่น  เป็นต้น  ตัวอย่างคนขับรถปั้นจั่นมักจะมีห้องเฉพาะที่ซึ่งมีเครื่องปรับอากาศให้เพราะจะทำให้คนขับรู้สึกเย็นสบายและช่วยป้องกันอันตรายจากฝุ่น  ฟูม  ก๊าซ  หรือไอระเหยของสารเคมี  เป็นต้น
                                                3.5 การตรวจสุขภาพร่างกายผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีก่อนรับเข้าทำงาน  เพื่อค้นหาโรคหรือสิ่งบกพร่องทางสุขภาพ  ซึ่งจะช่วยเลือกคนให้เหมาะสมกับงานด้านสารเคมีและยังต้องตรวจสุขภาพพนักงานเป็นระยะภายหลังที่ได้เข้าปฏิบัติงานแล้ว  เพื่อติดตามผลที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากทำงานเกี่ยวกับสารเคมีถ้าพบสิ่งผิดปกติหรือพบอันตรายจะได้รีบแก้ไขได้ทันท่วงที
                                                3.6 การใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล  เช่น  ที่ปิดปากและจมูกหรือเครื่องป้องกันอันตรายจากการหายใจ  ผ้ากันเปื้อน  ถุงมือ  ร้องเท้า  แว่นตาและที่ครอบหน้า  เครื่องป้องกันเหล่านี้ถึงแม้จะใช้ง่ายและราคาถูกแต่ต้องตระหนักถึงปัญหาความไม่สะดวกหรือรำคาญจากการสวมใส่อุปกรณ์เหล่านั้น  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่พนักงานไม่ยอมสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว  แต่ถ้ามีแผนการเลือกซื้อ  การฝึกอบรม  การชักจูงส่งเสริม  การใช้อย่างถูกต้อง  ตลอดจนการทำความสะอาดและบำรุงรักษาอย่างดีแล้ว  การใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลดังกล่าวก็สามารถป้องกันอันตรายได้ดีพอสมควรทีเดียว
                                                3.7 ติดตั้งก็อกน้ำ  ฝักบัว  ชำระร่างกาย (Shower)  ที่ล้างตา  (Eye wash)  และอุปกรณ์การปฐมพยาบาลต่าง ๆ เพื่อสามารถใช้ได้ทันทีเมื่อมีการได้รับอันตรายจากสารเคมีในขณะทำงาน
                                วิธีการป้องกันอันตรายทั้ง 3 วิธี ที่กล่าวมานั้นจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันในทางปฏิบัติพบว่าโดยทั่วไปจะไม่มีวิธีไหนให้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์  ดังนั้น  จึงพิจารณาใช้ทั้ง 3 วิธีร่วมกันไปจึงจะได้ผลและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

หลัก 3E เพื่อความปลอดภัย
                                1. Engineering   คือการใช้ความรู้ทางวิชาการด้านวิศวกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการคำนวณออกแบบเครื่องจักร  อุปกรณ์ที่มีสภาพการใช้งานที่ปลอดภัยที่สุดขณะใช้งานในสภาวะปกติ  การเลือกใช้วัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อน  อุณหภูมิและความดันที่เหมาะสมและจะต้องพิจารณาออกแบบเครื่องป้องกันอันตราย (Machine guarding)  ใช้สำหรับปกปิดหรือปิดกั้นส่วนที่เป็นอันตรายมิให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเข้าไปสัมผัสได้  นอกจากนั้นยังสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน  เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน  เช่น  การใช้ฉนวนหุ้มเพื่อป้องกันการแผ่รังสีความร้อน  เสียงดัง  การระบายอากาศ  การจัดแสงสว่างให้เหมาะสม  เป็นต้น  หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะต้องทำการสอบสวน  วิเคราะห์อุบัติเหตุทันที  เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุ  เพื่อจะได้นำไปหาวิธีป้องกันมิให้อุบัติเหตุลักษณะเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก
                                2. Education  คือ  การให้การศึกษา  อบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้  ความสามารถในการทำงานให้เพิ่มมากขึ้น  ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุ  การเสริมสร้างจิตสำนึกความปลอดภัย  ความรู้เกี่ยวกับสารเคมี  อันตรายและการป้องกันอันตรายจากสารเคมี  และจะต้องให้ความรู้ตั้งแต่ก่อนเข้าปฏิบัติงานโดยการฝึกอบรม  หรือสอดแทรกความรู้ประสบการณ์ควบคู่ไปกับการสอนขั้นตอนการปฏิบัติงานปกติ  ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น  การชี้แจงถึงอันตรายในแต่ละขั้นตอนการทำงานพร้อมทั้งแนะนำวิธีการป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุการกระตุ้นให้ตระหนักถึงอันตรายอยู่ตลอดเวลา
                                3. Enforcement  คือ  การออกกฎ  ระเบียบ หรือข้อบังคับ  เพื่อความปอลดภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานในกลุ่มคนหมู่มาก  รวมทั้งมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย  (SOP)  เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติทางเดียวกันและเป็นมาตรการควบคุม  บังคับให้พนักงานปฏิบัติ  โดยประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน  หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ  เพื่อให้เกิดความสำนึกและหลีกเลี่ยงการทำงานที่ไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อไป
                                การนำหลัก 3E ไปปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานนั้นจะต้องดำเนินการทั้ง 3E  พร้อม ๆ กัน  จึงจะทำให้การป้องกันอุบัติเหตุได้ผล  โดยเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบ  การเลือกอุปกรณ์  วัสดุ  การติดตั้ง  การทดสอบที่ปลอดภัย  ขณะเดียวกันก็ต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย  รวมทั้งกฎ  ระเบียบ  ข้อบังคับ  บทลงโทษให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

กรดและสารเคมี

กรด (Acid)

กรด เป็นสารประกอบที่เมื่อละลายน้ำจะ ionize ให้ไฮโดรเจนไอออน (H+) คนส่วนมากเข้าใจว่า กรดอยู่ในสภาพสารละลาย อย่างไรก็ตามมีกรดหลายชนิดเป็นของแข็ง ตัวอย่างเช่น boric acid และ citric acid
กรดทั่วๆ ไปที่ใช้กันได้แก่
HCL (hydrochloric acid)
H2SO4 (sulfuric acid)
HNO3 (nitric acid)
H2CO3 (carbonic acid)
H3PO4 (phosphoric acid)
คุณสมบัติของกรด
- กรดให้ hydrogen ion เมื่อใส่ในสารละลาย เช่น
HCL H+ + Cl-
hydrogen ion chloride ion
- สารละลายของกรดมีรสเปรี้ยว พวกมะนาวและองุ่นมีรสเปรี้ยว เนื่องจากมี citric acid อยู่ด้วย, น้ำส้ม (vinegar) มีรสเปรี้ยว เนื่องจากรสของ acetic acid , นมเปรี้ยว เนื่องจากมี lactic acid
- กรดทำปฏิกิริยากับโลหะออกไซด์และไฮดรอกไซด์ จะให้เกลือกับน้ำ เช่น
2 HCL + MgO H2O + MgCl2
magnesium oxide magnesium chloride
ขบวนการที่กรดทำปฏิกิริยากับไฮดรอกไซด์ของโลหะบางชนิด ซึ่งเรียกว่า bases แล้วได้เกลือกับน้ำ เรียกว่า ขบวนการสะเทิน (Neutralization) - กรดทำปฏิกิริยากับโลหะหลายชนิด เช่น K, Ca, Na, Mg, Al, Pb, Zn, Fe, Sn จะให้ก๊าซไฮโดรเจนและเกลือ
กรดหรือสารละลายที่เป็นกรดจึงไม่สมควรที่จะบรรจุในภาชนะที่เป็นโลหะ เช่น เหล็ก ซึ่งจะสามารถทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนไอออนในกรดได้ และไม่ควรจะให้กรดสัมผัสกับเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการผ่าตัด โดยปกติกรดควรจะเก็บไว้ในภาชนะที่เป็นแก้ว - กรดทำปฏิกิริยากับคาร์บอเนทและไบคาร์บอเนท จะให้คาร์บอนไดออกไซด์ เกลือ และน้ำ
ในกระเพาะอาหารปกติจะมีการหลั่งกรดเกลือ (HCl) ซึ่งใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นให้เอนไซม์ในกระเพาะอาหารมีประสิทธิภาพเพื่อการย่อยโปรตีน, พบว่าอารมณ์ที่เคร่งเครียดมีผลต่อการหลั่งกรดนี้มากขึ้น จึงได้มีการใช้สารลดกรด (antacids) เพื่อลดกรดในกระเพาะอาหารซึ่งในท้องตลาดมีชื่อตามการค้าหลายชนิดด้วยกัน เช่น


Tum ประกอบด้วย calcium carbonate (CaCO3) , magnesium carbonate (MgCO3) และ magnesium trisilicate (Mg2Sl3O8)
Maakox ประกอบด้วย magnesium hydroxide [Mg(OH)2] และ aluminum hydroxide [AL (OH)3]
Alka – Seltzer เป็นสารลดกรดชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วย calcium dihydrogen phosphate (Ca (H2PO4)2) , sodium bicarbonate (NaHCO3) , citric acid และ aspirin (acetyl salicylic acid) สารเหล่านี้เมื่อใส่ในน้ำ ไบคาร์บอเนทจะทำปฏิกิริยากับสารประกอบที่เป็นกรดให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเกิดเป็นฟองขึ้น
การใช้โซเดียมไบคาร์บอเนทในการลดกรดในกระเพาะอาหารนั้น อาจจะมีผลกระทบต่อขบวนการย่อยอาหารในกระเพาะอาหารได้ เพราะว่าเอนไซม์ในกระเพาะอาหารจะมีประสิทธิภาพดีในสภาพที่เป็นกรด
- กรดแก่ (strong acid) มีฤทธิ์กัดกร่อนผ้า เช่น ผ้าฝ้าย, ผ้าลินิน, ขนสัตว์, ผ้าไหมและใยสังเคราะห์ เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้ จึงควรจะระวังในการใช้กรด หากกรดหกใส่ผิวหนัง ควรจะรีบล้างน้ำเพื่อให้กรดเจือจางลง และควรใช้สารละลายโซเดียมไบคาร์บอเนทเจือจางชะล้าง เพื่อให้เกิดการทำปฏิกิริยากับกรดที่ยังเหลือตกค้างอยู่เกิดขบวนการสะเทินขึ้น
กรดแก่ หมายถึง กรดที่ ionized แล้วให้ hydrogen ion ในปริมาณที่มาก เช่น HCl, HNO3, H2SO4
กรดอ่อน (weak acid) หมายถึง กรดที่ ionized แล้วให้ hydrogen ion ในปริมาณที่น้อย เช่น carbonic acid
กรดอินทรีย์ ได้แก่ acetic acid หรือกรดน้ำส้ม (CH3COOH) formic acid หรือกรดมด (HCOOH) เป็นต้น
กรดอนินทรีย์ ได้แก่ HCL , HNO3 , H2SO4 เป็นต้น
ประโยชน์ของกรด
กรดเกลือ (HCL) เป็นของเหลว มีกลิ่นฉุน ไม่มีสี ใช้ในอุตสาหกรรม และห้องปฏิบัติการ ทั่วไปพบในน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร จำเป็นสำหรับการย่อยโปรตีน ช่วยทำลายแบคทีเรียที่จะทำให้เกิดการหมักในระบบย่อยอาหาร คนไข้ที่มีกรดเกลือต่ำในกระเพาะอาหารเรียกว่าเป็น hypoacidity

สารเป็นพิษที่พบในอาหาร

ารเป็นพิษ (Toxicant) เป็นสารเคมีหรือสารทางกายภาพ (รังสี แสง เสียง ความร้อน) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือ
ถูกสังเคราะห์ขึ้น เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลัน เรื้อรัง หรือไม่ปรากฏอาการในระยะเเรกจนพิษสะสมมาก
และแสดงออกภายหลังก็ได้ ผลของความเป็นพิษนี้ทำให้เกิดความผิดปกติในเมตาบอลิซึมหรือโครงสร้างของร่างกายได้ ความเป็นพิษ
อาจแสดงออกทันทีหรือในรุ่นลูกหลานหรือทำให้ลักษณะทางพันธุกรรมแปรเปลี่ยนไปในทางเสื่อม เกิดการก่อกลายพันธุ์หรือเกิดเป็น
มะเร็งได้
สารเป็นพิษสามารถจำแนกได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ เช่น จำแนกตามคุณสมบัติ ทางเคมี จำแนกตามผลลัพธ์
ที่เกิดขึ้น จำแนกตามความรุนแรงของพิษที่เกิด เป็นต้น สำหรับสารเป็นพิษที่พบได้ในอาหารสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. สารเป็นพิษที่พบในธรรมชาติ (Natural toxicants)
1.1 ส่วนประกอบของสารเป็นพิษที่พบในพืชและสัตว์
เช่น สัตว์กินอาหารที่มีสารพิษเข้าไป เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม ได้กินสาหร่ายที่เป็นพิษเข้าไปจำนวนมาก และเกิดการสะสมอยู่
ในตัวของหอยเหล่านั้น โดยที่ตัวหอยไม่เป็นไร เพราะหอยเหล่านี้จะมีต่อมที่สามารถจับพิษของสาหร่ายไว้ แต่คนที่บริโภคหอยจะเกิด
เป็นพิษขึ้นได้ นอกจากนี้ตัวสัตว์เองก็สามารถผลิตสารพิษได้ เช่น ปลาปักเป้า สามารถผลิตสารพิษ Tetrodotoxin ซึ่งมีฤทธิ์ปิดกั้น
ทำให้ Na++ เข้าไปภาย ในเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อไม่ได้ ผู้ป่วยจะหายใจไม่ได้ทำให้เสียชีวิตในที่สุด สำหรับส่วนประกอบ
ของ สารเป็นพิษที่พบในพืชนั้นมีหลายชนิด เช่น เห็ดพิษ ไซยาไนด์ใน มันสำปะหลัง ออกซาเลทในใบชะพลู และอัลคาลอยด์ในหมาก
1.2 Anti-vitamin
ได้แก่ สารอินทรีย์ในธรรมชาติที่สามารถสลายวิตามินหรือรวมกับวิตามินกลายเป็น สารประกอบที่ดูดซึมไม่ได้ และต่อต้านต่อเอนไซม์
ร่างกายไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือไปลดระดับวิตามิน หรือผลที่เกิดจากวิตามิน สารนั้นอาจมีโครงสร้าง ทางเคมีคล้ายวิตามิน แต่ก่อให้
เกิดอาการเป็นพิษ เช่น Antithiamin พบในพืชพวก red cabbage, red beet Antibiotin พบในไข่ดิบ หรือไข่ลวกที่ไข่ขาว ยังไม่
สุกดีซึ่งจะทำให้เป็นโรคผิวหนังจากการขาด biotin ได้ เพราะไข่ขาวมี avidin ซึ่งเป็น glycoprotein ที่จะรวมกับ biotin ได้เป็นสาร
ประกอบที่ต้านต่อกรด ด่าง และเอนไซม์
1.3 Anti-enzyme
สารกลุ่มนี้จะรบกวนการย่อยและการดูดซึมของโปรตีนตลอดจนการนำกรดอะมิโนหรือสารอาหารอื่นไปใช้ เช่น protease inhibitor
จะพบได้ใน legumes, elastase inhibitor จะพบได้ในมันฝรั่งtrypsin inhibitor จะพบได้ในพืชตระกูลถั่ว สำหรับ Antiprotease
ส่วนใหญ่จะถูกสลายด้วยความร้อน ถ้าเป็นพืชตระกูลถั่วมักจะแช่น้ำค้างคืนไว้แล้วนำไปต้มให้เดือดก็จะสามารถกำจัด inhibitor เหล่านี้ได้
นอกจากนี้สารเป็นพิษอาจเกิดจากสิ่งปนเปื้อนจากธรรมชาติก็ได้ เช่น การปนเปื้อนที่เกิดจากตัวเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของ
การปนเปื้อนในอาหาร และทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร อุจจาระร่วง เช่น Salmonella sp., Shigella sp., Escherichia coli ,
Clostridium perfrigens การปนเปื้อนของจุลินทรีย์สู่อาหารอาจเกิดจากการปนเปื้อนของวัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหาร เช่น ปนเปื้อน
จากน้ำ การปนเปื้อนที่เกิดจากสารที่ผลิตขึ้นจากเชื้อ จุลินทรีย์ สารพิษที่ผลิตขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์นี้ เรียกว่า toxin เช่น สารพิษจากเชื้อรา
Aspergillus flavus จะสร้างสารพิษ aflatoxin ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง สารพิษจากแบคทีเรีย Staphylococcus aureus จะสร้าง
enterotoxin ทำให้เกิดอาการท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ
2. สารเป็นพิษที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ (Man made toxicants)
สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร วัตถุเจือปนอาหาร สารเคมีที่มาจากภาชนะบรรจุสู่อาหาร สารเคมีที่เกิดจากอาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธี
ต่าง ๆ และสารปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม
2.1 สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร เช่น สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ย การใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชกับผลิตผลทาง
การเกษตร มักจะทำให้เกิดมีพิษตกค้าง ซึ่งพิษตกค้างของสารเคมีอาจจะพบได้ทั้งในผลิตผลทางการเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อมด้วย
นอกจากนี้ เกษตรกรเอง ก็จะได้รับพิษจากการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการรณรงค์ให้มีการใช้สารกำจัดศัตรู
พืชจากธรรมชาติ เช่น สะเดา เพราะไม่มีพิษต่อเกษตรกร และไม่มีพิษตกค้างด้วย
2.2 วัตถุเจือปนอาหาร คือ วัตถุที่ปกติมิได้ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร ไม่ว่าวัตถุนั้นจะมีคุณค่าทาง
อาหารหรือไม่ก็ตาม แต่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อประโยชน์ทางเทคโนโลยีการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา หรือการขนส่ง ซึ่งมีผลต่อคุณภาพ
หรือมาตรฐานหรือลักษณะของอาหาร เช่น สารที่ใช้ปรับความเป็นกรด-ด่าง สารกันเสีย สีผสมอาหาร สารให้ความหวานซึ่งปริมาณ ที่เติมลง
ในอาหารของวัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้จะต้องมีข้อกำหนดที่แน่นอนไม่เช่นนั้นก็จะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้
2.3 สารเคมีที่มาจากภาชนะบรรจุสู่อาหาร อันตรายที่เกิดจากสารเคมีของภาชนะบรรจุอาหาร และปนเปื้อนสู่ตัวอาหารนั้นมักจะถูก
มองข้ามไป เพราะอันตรายที่เกิดมิได้เป็นชนิดเฉียบพลัน หากจะค่อย ๆ สะสม ภาชนะที่ใช้บรรจุอาหาร ต้องเป็นภาชนะที่สะอาดไม่เคยใช้
บรรจุหรือใส่อาหารหรือวัตถุอื่นใดมาก่อน เว้นแต่ภาชนะที่เป็นแก้ว เซรามิค โลหะเคลือบหรือพลาสติก แต่ทั้งนี้ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม
และไม่มีโลหะหนัก หรือไม่มี จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคหรือไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพภาชนะ
บรรจุอาหารไม่ว่าจะเป็นภาชนะเปิดหรือปิด ต่างต้องมีข้อกำหนดคุณภาพมาตรฐานไว้ เช่น ภาชนะบรรจุเปิดมีการระบุชนิดของวัสดุที่ใช้
ขนาดของภาชนะ ตลอดจนโลหะหนักที่ยอมให้มีได้หรือภาชนะบรรจุที่ทำด้วยพลาสติก ซึ่งใช้บรรจุนมผลิตภัณฑ์นม หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่มี
ลักษณะคล้ายคลึงกับนมต้องเป็นพลาสติกชนิด Polyethylene หรือ polycarbonate
2.4 สารเคมีที่เกิดจากอาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีต่าง ๆกรรมวิธีที่ใช้ในการแปรรูปอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความร้อน การใช้ปฏิกิริยา
เคมีหรือ เอนไซม์ หรือแม้แต่การเกิดปฏิกิริยาระหว่างส่วนประกอบ ในอาหารกับออกซิเจน สามารถก่อให้เกิดสารก่อกลายพันธุ์ (mutagen)
และสารก่อมะเร็งได้ (carcinogen) เช่น การเผา ปิ้ง ย่างอาหารประเภท ไขมัน หากมีการใช้อุณหภูมิสูงมาก ๆ จะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง
พวก polycyclic aromatic hydrocarbon อาหารพวกโปรตีน เมื่อถูกความร้อนสูง ๆ จะกลายเป็นสารพวก heterocyclic amines
และคาร์โบไฮเดรต เมื่อถูกความร้อนสูงหรือผ่านกรรมวิธีการหมักจะเกิดสารพวก carbonyl amino condensation product
2.5 สารปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้ จากแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ เช่น การระเบิดของ ภูเขาไฟ ซึ่งมีปริมาณน้อย ส่วน
สาร เป็นพิษจากการกระทำของมนุษย์นั้นจะมาจากสารเคมีที่ใช้ใน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณสุข หากผู้ใช้ไม่มีความระมัดระวัง
หรือใช้ไม่ถูกต้อง ไม่มีระบบการกำจัดที่ดี ย่อมก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศ ดิน น้ำ ได้สารปนเปื้อนที่พบได้ในน้ำและดิน อาจเป็นสารอินทรีย์
หรืออนินทรีย์ที่มิได้กำจัดให้ถูกต้อง เกิดการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำและดิน เช่น ปรอท ตะกั่ว ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผงซักฟอก และ
สารพวก ปิโตรเคมี เป็นต้น พวกโลหะหนักถ้ามีการสะสมในเนื้อเยื่อของสัตว์น้ำก็จะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารมาสู่คนได้ ส่วนสารพวกฟอสเฟตที่
มาจากผงซักฟอก ถ้ามีปริมาณสูงในแหล่งน้ำจะทำให้เกิดภาวะ algal blooms และทำให้สัตว์น้ำตายได้
จะเห็นได้ว่าในอาหารที่เราบริโภคกันอยู่ทุก ทุกวันนี้ อาจจะมีสารเป็นพิษปนเปื้อนอยู่ ซึ่งอาจจะ มาจากสารเคมีที่เติมลงในอาหารเพื่อ
เพิ่มรส กลิ่น สี ให้มีสภาพคงทนเก็บได้นาน การแปรรูปอาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร หรืออาจเกิดจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ สารพิษจาก
จุลินทรีย์ ดังนั้นก่อนที่จะซื้อ หรือบริโภคอาหาร นอกจากจะคำนึงถึงคุณค่าของอาหารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหารด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Liener IE. Toxic constituents of plant foodstuffs.New York; Academic Press. 1980.
2.Concon JM.Food Toxicology. 4th
New York; Marcel Dekker,1988.
3. วรนันท์ ศุภพิพัฒน์. อาหาร โภชนาการ และสารเป็นพิษ. กรุงเทพ; แสงการพิมพ์, 2538.

สารเคมีในชีวิตประจำวัน

บทนำ



ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องครัว ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนบุคคล หรือแม้แต่ยาฆ่าแมลง เป็นต้น คุณเคยหยุดคิดสักนิดบ้างไหมว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ใช้ภายในบ้านเหล่านี้ประกอบด้วยสารเคมีบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัวและสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก โดยถ้านำไปใช้ เก็บ หรือทำลายทิ้ง อย่างไม่ถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม หรืออาจติดไฟทำลายทรัพย์สินของคุณได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเรารู้จักใช้ เก็บ และทิ้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างถูกวิธี เราก็จะสามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้และใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย



ทำไมสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านจึงเป็นอันตราย

ผลิตภัณฑ์สารเคมีที่ใช้ภายในบ้านมีอันตราย โดยอย่างน้อยมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ เป็นพิษ กัดกร่อน ติดไฟได้ หรือทำปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ นํ้ายาทำความสะอาดทั่วไป ยาฆ่าแมลง สเปรย์ชนิดต่างๆ นํ้ายาขจัดคราบไขมัน นํ้ามันเชื้อเพลิง สีและผลิตภัณฑ์ที่ถูกทาสีมาแล้ว แบตเตอรี และหมึก ผลิตภัณฑ์และสารเคมีต่างๆเหล่านี้ส่วนมากถ้าได้รับหรือสัมผัสในปริมาณที่น้อยคงไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก แต่ถ้าได้รับหรือสัมผัสในปริมาณที่มาก หรือในกรณีอุบัติเหตุ เช่น สารเคมีหกรดร่างกาย หรือรั่วออกจากภาชนะบรรจุ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้



สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อให้บ้านของคุณปลอดภัย

1. จัดเก็บผลิตภัณฑ์ต่างๆไว้ในที่ที่แห้งและเย็น ห่างจากความร้อน จัดวางบนพื้นหรือชั้นที่มั่นคง และเก็บให้เป็นระบบ ควรแยกเก็บผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ติดไฟได้ ทำปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ หรือเป็นพิษ ไว้บนชั้นต่างหาก และทำความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ควรจดจำให้ได้ว่าเก็บไว้ที่ไหน และแต่ละผลิตภัณฑ์มีวัตถุประสงค์ในการใช้อย่างไร เมื่อใช้เสร็จแล้วควรนำมาเก็บไว้ที่เดิมทันที และตรวจให้แน่ใจว่าภาชนะทุกชิ้นมีฝาปิดที่แน่นหนา ผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจเป็นอันตรายได้มากกว่าที่คุณคิด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้าน เช่น นํ้ายาเช็ดกระจก แอมโมเนีย นํ้ายาฆ่าเชื้อ นํ้ายาทำความสะอาดพรม นํ้ายาขัดเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งสเปรย์ปรับอากาศ เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เช่น ผงซักฟอก นํ้ายาปรับผ้านุ่ม นํ้ายาฟอกสีผ้า เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เช่น สเปรย์ใส่ผม นํ้ายาทาเล็บ นํ้ายาล้างเล็บ นํ้ายากำจัดขน นํ้ายาย้อมผม เครื่องสำอางอื่นๆ เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสวน เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงรักษาบ้าน เช่น สีทาบ้าน กาว นํ้ายากันซึม นํ้ามันล้างสี เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์ เช่น นํ้ามันเชื้อเพลิง นํ้ามันเบรค นํ้ามันเครื่อง นํ้ายาล้างรถ นํ้ายาขัดเงา เป็นต้น
2. ผลิตภัณฑ์สารเคมีทุกชนิดต้องมีฉลากและต้องอ่านฉลากก่อนใช้งานทุกครั้ง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายควรต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อ่านฉลากและทำตามวิธีใช้อย่างถูกต้องรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าฉลากมีคำว่า “อันตราย (DANGER)”, “สารพิษ (POISON)”, “คำเตือน (WARNING)”, หรือ “ข้อควรระวัง (CAUTION)” โดยมีรายละเอียดอธิบายได้ดังนี้
- อันตราย (DANGER) แสดงให้เห็นว่าควรใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ สารเคมีที่ไม่ได้ถูกทำให้เจือจาง เมื่อสัมผัสถูกกับตาหรือผิวหนังโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกกัดทำลาย หรือสารบางอย่างอาจติดไฟได้ถ้าสัมผัสกับเปลวไฟ
- สารพิษ (POISON) คือ สารที่ทำให้เป็นอันตราย หรือ ทำให้เสียชีวิต ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง รับประทาน หรือ สูดดม คำนี้เป็นเป็นข้อเตือนถึงอันตรายที่รุนแรงที่สุด
- เป็นพิษ (TOXIC) หมายถึง เป็นอันตราย ทำให้อวัยวะต่างๆทำหน้าที่ผิดปกติไป หรือ ทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง รับประทาน หรือ สูดดม
- สารก่อความระคายเคือง (IRRITANT) หมายถึง สารที่ทำให้เกิดความระคายเคือง หรืออาการบวมต่อผิวหนัง ตา เยื่อบุ และระบบทางเดินหายใจ
- ติดไฟได้ (FLAMMABLE หรือ COMBUSTIBLE) หมายถึง สามารถติดไฟได้ง่าย และมีแนวโน้มที่จะเผาไหม้ได้อย่างรวดเร็ว
- สารกัดกร่อน (CORROSIVE) หมายถึง สารเคมี หรือไอระเหยของสารเคมีนั้นสามารถทำให้วัสดุถูกกัดกร่อน ผุ หรือสิ่งมีชีวิตถูกทำลายได้
3. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เท่าที่ต้องการใช้เท่านั้น อย่าซื้อสิ่งที่ไม่ต้องการใช้ เพราะเสมือนกับเป็นการเก็บสารพิษไว้ใกล้ตัวโดยไม่จำเป็น พยายามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้หมดก่อนซื้อมาเพิ่ม ถ้ามีของที่ไม่จำเป็นต้องใช้แล้วเหลืออยู่ ควรบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการใช้ต่อไป หรือไม่ก็ควรเก็บและทำฉลากให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉลากใกล้หลุดหรือฉีกขาด และควรทิ้งผลิตภัณฑ์ที่เก่ามากๆ ซึ่งไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป
4. เก็บให้ไกลจากเด็ก สารทำความสะอาด หรือ สารเคมีที่ใช้ภายในบ้านอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ควรเก็บในตู้ที่เด็กเอื้อมไม่ถึง อาจล็อคตู้ด้วยถ้าจำเป็น สอนเด็กๆในบ้านให้ทราบถึงอันตรายจากสารเคมี นอกจากนี้ ควรจดเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ใกล้กับโทรศัพท์ เบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ ได้แก่ เบอร์รถพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสารพิษ และแพทย์ประจำตัว
5. ไม่ควรเก็บสารเคมีปะปนกับอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากสารเคมีอาจหกหรือมีไอระเหยทำให้ปนเปื้อนกับอาหารได้ และเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีเสร็จแล้วควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
6. ไม่ควรเก็บของเหลวหรือก๊าซที่ติดไฟได้ไว้ในบ้าน นํ้ามันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์หรือถังบรรจุก๊าซถ้าสามารถทำได้ไม่ควรนำมาเก็บไว้ภายในบ้าน ถังบรรจุก๊าซควรเก็บไว้นอกบ้านในบริเวณใต้ร่มเงาที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ต้องไม่เก็บของเหลวหรือก๊าซที่ติดไฟได้ไว้ใกล้กับแหล่งของความร้อนหรือเปลวไฟ และเก็บไว้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมหรือภาชนะที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น
7. เก็บสารเคมีไว้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมเท่านั้น ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านลงในภาชนะชนิดอื่นๆ ยกเว้นภาชนะที่ติดฉลากไว้อย่างเหมาะสมและเข้ากันได้กับสารเคมีนั้นๆโดยไม่ทำให้เกิดการรั่วซึม นอกจากนี้ ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายสารเคมีลงในภาชนะที่ใช้สำหรับบรรจุอาหาร เช่น ขวดนํ้าอัดลม กระป๋องนม ขวดนม เป็นต้น เพื่อป้องกันผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำไปรับประทาน
8. ผลิตภัณฑ์หลายชนิดสามารถนำไปแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อลดปริมาณสารเคมีที่เป็นพิษในสิ่งแวดล้อม
9. ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีอันตรายน้อยกว่าทดแทนสำหรับงานบ้านทั่วๆไป ตัวอย่างเช่น สามารถใช้ผงฟู และนํ้าส้มสายชูเทลงในท่อระบายนํ้า เพื่อป้องกันการอุดตันได้
10. ทิ้งผลิตภัณฑ์และภาชนะบรรจุให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่เทผลิตภัณฑ์ลงในดินหรือในท่อระบายนํ้าทิ้ง ผลิตภัณฑ์หลายชนิดไม่ควรทิ้งลงในถังขยะหรือเทลงในโถส้วม ควรอ่านฉลากเพื่อทราบวิธีการทิ้งที่เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้ผลิต



ทำอย่างไรให้ปลอดภัยขณะใช้สารเคมี

1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นพิษแทน
2. อ่านฉลากและปฏิบัติตามวิธีการใช้ทุกครั้ง
3. สวมถุงมือและเสื้อคลุมทุกครั้ง ถ้าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้เกิดอันตรายได้โดยการสัมผัสต่อผิวหนัง
4. สวมแว่นตาป้องกันสารเคมี ถ้าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อตา
5. ห้ามสวมคอนแทคเลนส์เมื่อใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น ทินเนอร์ เป็นต้น
6. หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ทันทีถ้ารู้สึกวิงเวียน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะ
7. ควรใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ผลิตภัณฑ์ในที่โล่งแจ้ง
8. ห้ามสูบบุหรี่เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดไฟได้
9. ห้ามผสมผลิตภัณฑ์สารเคมีเอง เนื่องจากสารเคมีบางชนิดอาจทำปฏิกิริยาต่อกัน เกิดเป็นไอควันพิษหรืออาจระเบิดได้
10. พบแพทย์ทันทีถ้าสงสัยว่าได้รับสารพิษหรือได้รับอันตรายเมื่อสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ภายในบ้าน

สารเคมี 12 ชนิดในเครื่องสำอางที่ควรหลีกเลี่ยง

คุณรู้ไหมว่า จุดด่างดำ รอยเหี่ยวย่นต่างๆ บนใบหน้าหรือแขนขา จริงๆแล้วอยู่แค่ความลึกของชั้นผิวหนัง แต่ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้เพื่อรักษาความสวยงามที่มนุษย์เรา โดยเฉพาะผู้หญิงต้องการนั้นมีสารเคมีที่สามารถแทรกซึมลงลึกได้มากกว่าชั้นผิวหนัง และถ้าหากเครื่องสำอางค์หรือครีมบำรุงผิวนั้น ซึมลึกอย่างที่โฆษณากันจริง  คุณเคยนึกมั๊ยว่า  อะไรล่ะที่มันซึมเข้าไป  และนอกจากผลเรื่องความสวยงามแล้ว สารที่ซึมลงไปในร่างกายเราจะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง



โดยเฉลี่ยคนอเมริกันจะใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว/ทำความสะอาดผิวประมาณ 9 ชนิดต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้พบว่ามีสารเคมีประมาณ 120 ชนิด อันนี้ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ผู้หญิงเราก็ต้องล้างหน้า เช็ดหน้า ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ สำหรับหน้า สำหรับตา และ อีกอันสำหรับคอ  เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องตามด้วยเครื่องสำอางค์ที่ 4-5 ชนิด  และอีกไม่น้อยที่ก็ต้องทาโลชั่นสำหรับผิวกาย  คุณเชื่อหรือไม่ว่ามีสารเคมีหลายชนิดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องประทินผิวนี้ยังไม่ได้ผ่านการทดสอบทางด้านพิษวิทยาอย่างถี่ถ้วน


The Green Guide มีรายชื่อสาร 12 ชนิด ที่เราควรหลีกเลี่ยง ถึงแม้ว่าการใช้สารเหล่านี้เพียงครั้งเดียวคงจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่การใช้ทุกวันไปเรื่อยๆตลอดอายุของคุณจะเกิดการสะสมได้ ดังนั้นเมื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ให้เราใช้เวลาในการอ่านฉลากให้นานขึ้น แม้แต่ผลิตที่โฆษณาว่า     ”มาจากธรรมชาติ  Natural” หรือ ”มาจากสมุนไพร Botanical” ก็อาจผสมสารที่ควรหลีกเลี่ยง 12 ชนิดนี้ได้


1.สารยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย  หรือ Antibacterial ตัวอย่าง เช่น Triclosan เป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มักเติมลงในสบู่ ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ใต้วงแขน เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อจาก E. coli หรือ Salmonella enterica มีรายงานระบุว่าตรวจพบ Triclosan ในน้ำนมแม่  และมีงานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่า  Triclosan ออกฤทธ์รบกวนการทำงานของฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนในเซลล์ได้ จากการศึกษาหลายๆชิ้นบ่งชี้ว่าแค่อาบน้ำด้วยสบู่ธรรมดา และน้ำอุ่นก็ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้แล้ว


2. Coal Tar เป็นสารก่อมะเร็งที่ใช้เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในแชมพูขจัดรังแค และครีมทาแก้คัน สีผสมอาหารบางชนิดที่มีโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับ Coal Tar เช่น FD & C Blue 1 ที่มักใช้ในยาสีฟันและ FD&C Green 3 ที่มักใช้ในน้ำยาบ้วนปาก ก็พบว่ามีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองเมื่อฉีดสีเหล่านี้เข้าใต้ผิวหนัง


3.  Diethanolamine (DEA) สารชนิดนี้พบว่าอาจออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของฮอร์โมน และอาจเป็นสารก่อมะเร็ง และมีผลทำให้ปริมาณ choline ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมองของตัวอ่อนในครรภ์ลดลงด้วย เราอาจพบ DEA ได้ในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอนุพันธ์ DEA เช่น cocamide DEA ได้ เนื่องจากการปนเปื้อนมากับตัววัตถุดิบ

 4. 1,4-Dioxane เป็นที่ยอมรับกันว่าสารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ และอาจเป็นสารก่อมะเร็งในคนด้วย Dioxane มักพบปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Sodium Laurth Sulfate หรือสารเคมีที่มีคำว่า “PEG,” “-xynol,” “ceteareth,” และสารเคมีที่มักลงท้ายว่า ethoxylated "eth" ถึงแม้ว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ทำการเฝ้าระวังสารปนเปื้อน 1,4 Dioxane แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดค่าสูงสุดที่มนุษย์สัมผัสได้ แม้ว่าผู้ผลิตเครื่องสำอางได้ใช้กระบวนการ “vacuum stripping” เพื่อขจัด dioxide ออกแต่ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยลดปริมาณปนเปื้อนที่พบในผลิตภัณฑ์อาบน้ำเด็กเหลือเพียง 10 ส่วนในล้านส่วน  จากการสำรวจในปี 2007 โดยโครงการรณรงค์การใช้เครื่องสำอางปลอดภัย ในขณะที่การสำรวจในปี 2001 นั้นมีสารปนเปื้อน dioxane ถึง 85 ส่วนในล้านส่วน



5. Formaldehyde เป็นสารที่มีอันตรายต่อสุขภาพหลายข้อด้วยกัน รวมถึงพิษต่อระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ระคายเคืองทางเดินหายใจ และทำให้เกิดมะเร็งในคน ซึ่งสาร Formaldehyde สามารถตรวจพบได้แม้ในสบู่อาบน้ำเด็ก ยาทาเล็บ กาวติดขนตา และยาย้อมผม โดย Formaldehyde ปนเปื้อนมากับสารเคมีตัวอื่นหรืออาจเกิดจากการสลายตัวของ diazolidinyl urea(สารกันบูด) หรือ imidazolidinyl urea (สารกันบูด) หรือสารประกอบ quarternium


6. Fragrance น้ำหอม คำว่าน้ำหอมอาจใช้แทนสารเคมีกลุ่ม phthalates ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นกลิ่นสังเคราะห์หรือน้ำหอมสังเคราะห์นั่นเอง โดยสารกลุ่มนี้จะรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อจึงอาจก่อให้เกิดความอ้วน และอาจมีผล        รบกวนระบบสืบพันธ์และการพัฒนาการได้ การหลีกเลี่ยงสารกลุ่ม phthalates ทำได้โดยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารแต่งกลิ่น/ น้ำหอมที่สกัดจากธรรมชาติ หรือ essential oil ที่มักนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์สปาราคาสูง เนื่องจากน้ำมันหอมมระเหยสกัดจากธรรมชาติมีราคาแพงกว่าน้ำมันหอมระเหยสังเคราะห์


7.Lead and Mercury สารตะกั่วและปรอท ตะกั่วมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทที่พบในธรรมชาติที่ปนเปื้อนมากับ hydrated silica โดย hydrated silica เป็นสารที่มักพบยาสีฟันส่วน lead acetate พบได้ในยาย้อมผมสำหรับผู้ชาย บางยี่ห้อ ส่วนปรอทซึ่งเป็นสารที่ทำลายสมอง อาจพบได้ในมาสคาร่าที่ใช้ thimerosol เป็นสารกันเสีย


8.Nanoparticles  เป็นสารอะไรก็ได้ที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากๆ จึงเกิดการแทรกซึมเข้าผิวหนังและถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดและไปทำลายเซลล์สมองได้ พบการใช้ nonoparticles เพิ่มขึ้นในเครื่องสำอางและครีมกันแดด  ตัวที่มีปัญหามากที่สุดคือ zinc oxide หรือ titanium dioxide ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในการป้องกันรังสี uv ที่ใช้แล้วไม่ทำให้หน้าขาว  ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการดูดซึมของ zinc oxide หรือ titanium dioxide เข้าสู่ร่างกาย  ให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่ใช้อนุภาคขนาด 100 nanometres ขึ้นไป โดยการโทรศัพท์ไปถามผู้ผลิตถึงขนาดของ zinc oxide และ titanium dioxide ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์  ปัจจุบันมีบางบริษัทได้โฆษณาระบุว่าปราศจากสาร nanoparticles บนฉลากด้วย


9. Parabens สารกลุ่มพาราเบน  เช่น (methyl-,ethyl-,propyl-,putyl-,isobutyl-)Parabens มีฤทธิ์ฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิงอย่างอ่อนๆ ) เป็นสารกันบูดที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว มีการศึกษาพบว่า putyl paraben มีฤทธิ์ทำลายการสร้างสเปริ์มในอัญฑะของหนู  ใน EU ได้ประกาศห้ามใช้  sodium  methylparaben  ในเครื่องสำอางแล้ว เมื่อ paraben เข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น p-hydroxybenzoic acid  ที่มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจนในเซลล์เพาะเลี้ยงมะเร็งเต้านม

10. Petroleum Distillates  สารสกัดจากปิโตรเลียม อาจเป็นสารก่อมะเร็งในคนได้ โดย E.U. ได้ประกาศห้ามใช้หรือจำกัดการใช้ในเครื่องสำอางแต่ยังใช้แพร่หลายในเครื่องสำอางประเภทมาสคาร่า  แป้งดับกลิ่นเท้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ  ที่มาจากสหรัฐอเมริกาบางยี่ห้อ  ให้สังเกตชื่อส่วนผสมที่เขียนว่า liquid paraffin และ petroleum.

11. P-Phenylenediamine เป็นสารที่พบในยาย้อมผม  มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท  ทำให้ระคายเคืองปอดและก่อให้เกิดการแพ้ สารกลุ่มที่มีชื่อเรียกอื่นได้เช่น  1,4-Benzenediamine; p-Phenyldiamine and 4- Phenylenediamine.


12. Hydroquinone มักพบในครีมหน้าขาวหรือโลชั่นผิวขาว Hydroquinone มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและก่อให้เกิดการแพ้ มีหลักฐานบางชิ้นระบุว่า ทำให้เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง และอาจพบเป็นสารเจือปนในส่วนประกอบบางอย่างที่ไม่เขียนบนฉลากได้

14 สารเคมีในเครื่องสำอางควรรู้จัก

ปัจจุบันการดูแลตัวเองของคนในบ้าน ไม่เฉพาะแต่เพียงผู้หญิงเท่านั้นที่ใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ คุณผู้ชาย หรือลูกผู้ชายในบ้านส่วนใหญ่ ก็หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพผิวกันมากขึ้น แต่การเลือกใช้ครีมบำรุงผิวที่มีความเป็นธรรมชาติสูง หลายคนอาจมองข้ามไป เพราะส่วนมากจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขายตามท้องตลาดเสียมากกว่า ซึ่งถ้าเลือก และใช้อย่างไม่ระวัง สารเคมีที่อยู่ในเครื่องสำอางดังกล่าว อาจตกค้าง และสะสมในร่างกายก็เป็นได้ ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์ความงามกำลังตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการสะสมสารพิษในร่างกายโดยไม่จำเป็น

สอดรับกับข้อมูลชิ้นหนึ่งที่รายงานว่า “ผู้หญิงซึมซับสารเคมีจากเครื่องสำอางทุกชนิดเฉลี่ยปีละเกือบ 2 กิโลกรัม ในขณะที่เอนไซม์ในน้ำลาย และน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร อาจทำลายสารเคมีในลิปสติกได้ แต่ถ้าเป็นโลชั่นที่ซึมซับผ่านทางผิวหนัง และทางกระแสเลือดนั้น ไม่สามารถป้องกันได้เลย

จนในที่สุดไปสะสมที่ตับ เพราะร่างกายไม่สามารถจำกัดออกทางผิวหนัง และการขับถ่ายได้ ทำให้เกิดผดผื่น ซึ่งเป็นผลจากการขับพิษตามธรรมชาติออกจากร่างกายทางหนึ่ง” จึงเป็นเหตุผลให้สมาชิกในบ้านที่รักสวย รักงาม ต้องหันมาใส่ใจ และเลือกซื้อเครื่องสำอางกันมากขึ้น

1. Mineral Oil (Petrolatum)

เป็นสารที่แยกจากการสกัดน้ำมันปิโตรเลียม มักถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอางจำพวกเบบี้ ออย และเครื่องสำอางประเภทมอยเจอร์ไรเซอร์ ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิว แต่เพราะเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ จึงอาจเกิดการตกค้างที่ผิวหนัง เป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้ อาทิ ปัญหาสิวอุดตัน รูขุมขนอุดตัน หรือผิวหนังอักเสบ เป็นต้น

2. Propylene Glycol

สารตัวนี้ เป็นสารเคมีที่ใช้เพื่อป้องกันการจับตัวเป็นของแข็ง ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมถูกนำไปใช้ในการทำละลาย อาทิ สี และพลาสติก และถูกนำมาใช้กับเครื่องสำอางในกลุ่มมอยเจอร์ไรเซอร์ ทำหน้าที่เก็บรักษาความชุ่มชื้นในเครื่องสำอาง ซึ่งหากใช้ในปริมาณน้อยจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าผิวแพ้ อาจเกิดการระคายเคืองได้ และถ้าสะสมในปริมาณมาก อาจมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง และมีแนวโน้มเป็นสารตั้งต้นให้เกิดโรคมะเร็ง

3. Triethanolamine (TEA)

สารเคมีชนิดนี้พบมากในเครื่องสำอางจำพวกบอดี้ โลชั่น แชมพู โฟมโกนหนวด และครีมบำรุงรอบดวงตา กับหน้าที่ในการปรับค่า pH ไม่ให้เป็นกรด-ด่าง มากเกินไป ซึ่งหากร่างกายได้รับในปริมาณน้อยก็ไม่เกิดอันตราย แต่หากสะสมในปริมาณมาก อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้ อย่างไรก็ดี หญิงตั้งครรภ์ควรเลี่ยง เพราะเป็นสารเคมีที่มีผลต่อทารกในครรภ์ในช่วงพัฒนาการทางสมอง

4. IPM (Isopropyl Myristate)

เป็นสารเคมีที่ใช้กันมากในวงการเครื่องสำอาง กับคุณสมบัติในการเคลือบผิวเพื่อเก็บรักษาความชุ่มชื้น อย่างไรก็ดี จากการทดลองในสัตว์ พบว่า สารเคมีชนิดนี้ทำให้เกิดการอุดตันที่รูขุมขน ซึ่งอาจทำให้ผิวระคายเคือง และทำให้เกิดปัญหาผิวหนังได้

5. Polyethylene

สารเคมีชนิดนี้ พบมากในเครื่องสำอางจำพวกสครับ เนื่องจากเป็นพลาสติกที่ลื่นมัน ยืดหยุ่นได้ดี จึงใช้เป็นเม็ดสครับผิวได้ แต่เนื่องจากเป็นสารเคมีจำพวกพลาสติก จึงถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมในของใช้ต่าง ๆ เช่น ขวดใส่สารเคมี ขวดใส่น้ำ บรรจุภัณฑ์ ฉนวนไฟฟ้า หรือแม้แต่เก้าอี้ ซึ่งแม้จะไม่สามารถซึมผ่านสู่ผิวหนังได้ แต่ก็อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว และไม่เป็นมิตรกับร่างกาย

6. Imidazolidinyl and Diazoliddinyl Urea

สารกันเสียชนิดนี้ถูกนำมาใช้ทั่วไปในกลุ่มเครื่องสำอาง กับหน้าที่ในการกำจัดแบคทีเรีย หรือจุลชีพต่าง ๆ แต่ด้วยการสลายตัวที่ทำให้เกิดสารฟอมาลดีไฮด์ (Formaldehyde) จึงทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และระบบหายใจได้ ซึ่งพิษสะสมอาจทำให้การทำงานของเซลล์ร่างกายผิดปกติ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง

7. Paraben

คือสารกันเสียที่นิยมใช้อย่างมากในกลุ่มเครื่องสำอางจำพวกผิวหนังและเส้นผม รวมถึงผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น หรือโรลออน เพราะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่เนื่องจากเป็นสารเคมีที่พบในผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทที่ง่ายต่อการสะสมในร่างกาย หลายองค์กรจึงรณรงค์ให้เลี่ยงการใช้พาราเบนที่พบว่าเสี่ยงต่อการระคายเคืองผิว อาจขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ และอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม

8. SLES (Sodium Laureth Sulfate)

คือสารเคมีที่นิยมเติมลงในเครื่องสำอางจำพวกแชมพู หรือเจลอาบน้ำเพื่อทำให้เกิดฟองและลดแรงตึงผิว สามารถพบได้ในแชมพูเกือบทุกประเภท ด้วยผู้บริโภครู้สึกว่าสามารถกำจัดไขมันออกจากผิว และผมอย่างหมดจด แต่แท้จริงแล้ว สารลดแรงตึงชนิดนี้มีส่วนเสียคือ มีฤทธิ์ทำให้กระบวนการป้องกันผิวและดูแลเส้นผมตามธรรมชาติอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการระคายเคือง และหากกระบวนการผลิตมีการปนเปื้อนก็อาจเป็นสารก่อมะเร็งได้

9. Artificial Color

มีเครื่องสำอางจำนวนไม่น้อยที่ใช้สีในการเติมแต่งเพื่อให้เกิดความงาม น่าใช้ บางชนิดเป็นสารเคมีสังเคราะห์ และบางชนิดเป็นสีที่ใช้ในอาหาร (Food grade - ซึ่งค่อนข้างมีความปลอดภัย) อย่างไรก็ดี ย่อมเป็นการปลอดภัยกว่าในการงดการใช้สีที่มาจากการสังเคราะห์ทุกประเภท เนื่องจากอาจมีสารหนัก รวมทั้งสารหนูและสารตะกั่ว อันเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง

10. Silicone

ซิลิโคนมีลักษณะคล้ายยาง มีความยืดหยุ่นสูงและมีอยู่หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับประเภทใช้งาน แต่ถูกนำมาใช้ในวงการความงามอย่างแพร่หลาย โดยในเครื่องสำอางนั้น มักถูกนำมาใช้กับครีมนวดผมเพื่อให้รู้สึกนุ่มลื่น ช่วยเคลือบบำรุงเส้นผมให้ดูเงางาม นุ่มสลวย แต่อาจเกิดการสะสมในตับและต่อมน้ำเหลืองหากใช้ในปริมาณมาก ซึ่งสามารถเป็นตัวเร่งการเกิดเนื้องอกและมะเร็งได้

11. Petroleum Derivative

เป็นสารเคมีที่ได้มาจากการแยกน้ำมันปิโตรเลียม มักถูกนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหลายประเภท อาทิ ครีมรองพื้น โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิว เพื่อทำหน้าที่เก็บกักความชุ่มชื่นผิวโดยการเคลือบผิวไว้ แต่ด้วยความที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่และผ่านกรรมวิธีทางเคมี จึงอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง อุดตันผิว และเกิดสิวได้ และหากเก็บกักสะสม อาจเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของผิว และทำให้ฮอร์โมนและภูมิคุ้มกันในเพศหญิงอ่อนแอ

12. Synthetic Polymer

โพลิเมอร์มีสารตั้งต้นจากพลาสติก ที่ผ่านกระบวนการทางเคมีให้มีความเหนียวนุ่ม ยืดหยุ่น นิยมนำมาทำบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมทั้งเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อาทิ ครีมนวดผม หรือเจลแต่งทรงผม ทำหน้าที่หลากหลายขึ้นอยู่กับการใช้งาน อาทิ การเพิ่มเนื้อสัมผัส การเคลือบผิว หรือการเก็บรักษาความชุ่มชื้น อย่างไรก็ตาม มีสารโพลิเมอร์บางชนิดสามารถหาได้จากพืช อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด และมะพร้าว ซึ่งเป็นมิตรกับธรรมชาติและเหมาะสมกับร่างกายของเรามากกว่า

13. PEG (Polyethylene Glycol)

เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อทดแทนสารเพิ่มความชุ่มชื้น มักถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ความงามจำพวกทำความสะอาดและบำรุงผิว โดยสถาบันเผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัตถุในสหรัฐอเมริกา (III) ได้ออกคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีชนิดนี้ เพราะระคายเคืองต่อผิวสูง และอาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติในตับและไต และอาจเกิดการปนเปื้อนจากการผลิตซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับและจมูก


14. Quats

คือสารชะล้างที่มักนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ขัดล้างต่าง ๆ อาทิ น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาขัดพื้น และนำมาใช้กับเครื่องสำอางจำพวกแชมพู หรือเจลอาบน้ำทั้งหลาย เพื่อให้รู้สึกถึงการทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นสารเคมีรุนแรง จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผิวเกิดผดผื่น แพ้ และทำลายระบบทางเดินหายใจหากใช้ในปริมาณสูงและใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ผลิตภัณฑ์ที่ดี ควรสกัดมาจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะพร้าว ผัก หรือผลไม้ ซี่งผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน ส่วนมากมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบหลักอยู่แทบทุกชนิด เช่น สารกันเสียที่มากเกินไป หรือสารอื่น ๆ ที่เรายังไม่รู้ และเป็นอันตรายต่อผิวหนัง ดังนั้นก่อนซื้อควรทดลองกับผิวบริเวณแขนของตัวเองก่อน ถ้าทาแล้วไม่รู้สึกระคายเคือง หรือไม่มีอาการคัน ก็สามารถใช้ได้

ที่สำคัญ การเลือกซื้อเครื่องสำอาง ไม่ควรซื้อเพราะเห็นคนอื่นใช้แล้วดี แต่ควรดูสภาพผิวของตัวเองด้วยว่า เหมาะสมหรือไม่ อีกอย่างไม่ควรซื้อเกินกำลังของตัวเอง และนอกจากนี้ยังมีสมุนไพรไทย เช่น ขมิ้น ว่านหางจระเข้ สามารถนำมาขัด และบำรุงผิวได้เหมือนกัน โดยไม่มีสารเคมี แถมหาได้ง่าย หรือถ้าจะล้างเครื่องสำอางออก วิธีง่ายๆ ก็คือ ใช้น้ำมันมะพร้าวเช็ด และล้างน้ำออก ซึ่งได้ผลดีเหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

อันตรายจากการทำงานกับสารเคมี และการควบคุมป้องกัน

การต้องปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสารเคมี ซึ่งมีการฟุ้งกระจายของสารเคมี ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของอนู ฝุ่น ก๊าซ หรือไอระเหยในบรรยากาศการทำงาน ดังนั้นการมีมาตรการป้องกัน โดยการจัดให้ผู้ปฏิบัติงานมีการใช้อุปกรณ์ปกป้องระบบหายใจอย่างถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
แนวทางหนึ่งในการสร้างเสริมสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว คือ การพัฒนาองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการ นายจ้าง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตรวจความปลอดภัยในการทำงานของภาครัฐ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและมีแนวคิดที่ถูกต้องเหมาะสม
สารเคมีในสิ่งแวดล้อมการทำงาน
1. อนุภาคของแข็ง (Solid Particles)
- ฝุ่น (Dusta)
- เส้นใย (Fibers) เช่นใยแก้ว
- ฟูม (Fumes) เกิดจากการควบแน่นของไอโลหะ
- ควัน (Smoke) เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ลอยตัวในอากาศ

2. ของเหลว ได้แก่ ละออง (Mists)
3. ก๊าชต่างๆ (Gases) และไอระเหย (Vapor)

รูปแบบอันตรายจากสารเคมี
อาจแบ่งกลุ่มสารเคมีตามลักษณะความเป็นพิษ
1. สารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง คัน แสบ ร้อน พุพอง เช่น กรดต่างๆ ก๊าชคลอรีน แอมโมเนีย ซัลเฟอร์ไดออกไซด์
2. สารที่ทำให้หมดสติได้ โดยสารเมีนี้จะไปแทนที่ออกซิเจน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจน ไซยาไนด์
3. สารเสพติด เป็นสารที่ทำอันตรายต่อระบบประสาท เช่น สารที่ระเหยได้ง่าย ได้แก่ แอลกอฮอร์ เบนซิน อะซิโตน อีเทอร์
4. สารที่เป็นอันตรายต่อระบบการสร้างโลหิต เช่น ตะกั่วจะกดไขกระดูกซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง
5. สารที่เป็นอันตรายต่อกระดูก เช่น ฟอสฟอรัส แคดเมี่ยม
6. สารที่ทำอันตรายต่อระบบการหายใจ เช่น ปอด ทำให้เกิดเยื่อพังผืดไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับออกซิเจนได้ เช่น ฝุ่นทราย ฝุ่นถ่านหิน
7. สารก่อกลายพันธุ์ ทำอันตรายต่อโครโมโซม เช่น สารกัมมันตรังสี สาร"ฆ่าแมลงบางชนิด โล
หะบางชนิด
8. สารก่อมะเร็ง เช่น สารกัมมันตรังสี สารหนู แอสเบสตอส นิเกิล ไวนิลคลอไรด์
9. สารเคมีทำให้ทารกเกิดความพิการ เมื่อคลอดออกมาแล้วจะมีอวัยวะไม่สมบูรณ์ ได้แก่ ยาธาลิโดไมค์ ยาปราบศัตรูพืชบางชนิด

การเข้าสู่ร่างกายของสารเคมี
โดยทั่วไปสารเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางจมูกโดยการหายใจ ทางผิวหนัง และตา โดยการซึมผ่าน และทางปากโดยการกลืนกินการตระหนัก การบ่งชี้ประเภทลักษณะ และการประเมินระดับของสารอันตรายในสิ่งแวดล้อการทำงานเป็นสิ่งจำเป็น

sourcd: สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน อันตรายจากการทำงานกับสารเคมี และการควบคุมป้องกัน

ระวัง 5 สารพิษใกล้ตัว (Modernmom)

ในชีวิตประจำวันของพวกเรา มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มาทำให้ชีวิตเราสบายและรวดเร็วมากขึ้น แต่ในทางกลับกันความสะดวกสบายเหล่านั้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้ โดยเฉพาะสารพิษ สารเคมีใกล้ตัวที่เป็นภัยต่อสุขภาพและไม่อาจมองข้ามได้


1. เฟอร์นิเจอร์


เครื่องใช้ในบ้านและสำนักงานจำพวกเฟอร์นิเจอร์ไม้มักตรวจพบสารฟอร์มาลดีไฮด์ตกค้าง และสารเคลือบเงาเช่น โทลูอีน ไซลีน และ เอธิลเบนซิน รวมถึงสีที่มีสารตะกั่วเป็นส่วนประกอบหลุดลอกจากเฟอร์นิเจอร์ หรือผนังอาคารปะปนกับฝุ่นผงในอากาศ


อาการ : สารฟอร์มาลดีไฮด์ โทลูอีน ไซลีน เมื่อสูดดมเข้าไปบ่อย ๆ จะมีอาการระคายเคืองจมูกและลำคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองต่อผิวหนังหรือระบบทางเดินหายใจ ส่วนสารตะกั่วนอกจากจะก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหารแล้ว ถ้าได้รับเป็นเวลานานและปริมาณมากจะมีผล คือ ปวดท้องรุนแรง ทำลายสมอง ไต ระบบการย่อยอาหารและระบบการได้ยิน


วิธีป้องกัน : ทำความสะอาดห้องทำงานอยู่เสมอ และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี


2. น้ำยาลบคำผิดและกาว


มีส่วนผสมของสารระเหยที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะมีทินเนอร์และสารประกอบอินทรีย์เคมีชนิดต่าง ๆ ประกอบอยู่ ได้แก่ สารโทลูอีน เบนซิน และสไตลีน ซึ่งมีกลิ่นพิเศษ เฉพาะและระเหยปะปนในอากาศได้ง่าย


อาการ : หากสูดดมในระยะสั้นจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตาผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ วิงเวียน หน้ามืด มีผลกระทบต่อประสาทส่วนกลาง และเสียการทรงตัวได้ หากสูดดมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้โครโมโซมในเม็ดเลือดผิดปกติจนถึงขั้นเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด หรือหากกลืนสารเหล่านี้เข้าไปและมีการสำลักร่วมด้วยอาจทำให้ปอดอักเสบได้


วิธีป้องกัน : หลีกเลี่ยงการสูดดม และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี


3. ฝุ่นละอองในสำนักงาน


อาจเกิดจากผงหมึกที่กระจายออกมาจากเครื่องถ่ายเอกสาร ฝุ่นเยื่อกระดาษที่อาจพบตามเอกสารต่าง ๆ บนโต๊ะทำงาน หรือกระดาษปิดผนังหรือวอลเปเปอร์ โดยฝุ่นเหล่านี้สามารถเข้าไปสะสมในปอดได้


อาการ : จะมีอาการไอ จาม และระคายเคืองต่อตา จมูก และคันผิวหนัง หากได้รับบ่อย ๆ อาจก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคหอบหืดได้


วิธีป้องกัน : ควรจัดวางโต๊ะทำงานไม่ให้หนาแน่น ทำความสะอาดห้อง และโต๊ะทำงานเป็นประจำ แบ่งโซนเครื่องถ่ายเอกสารหรือหนังสือให้อยู่ในมุมที่ห่างไกลจากคนทำงาน


4. สารเคมีจากคอมพิวเตอร์


มีผลการศึกษาของนักวิจัยในสวีเดนระบุว่า สารเคมีจากจอคอมพิวเตอร์ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ โดยสารเคมีที่ชื่อ Triphenyl Phosphate ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในจอวิดีโอหรือปากกาเคมี ตลอดจนสเปรย์ปรับอากาศ ซึ่งมีกลิ่นจากสารเคมี


อาการ : ระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกและตาได้


วิธีป้องกัน : ทำความสะอาดห้องทำงานอยู่เสมอ และจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี


5. ไอเสียจากรถยนต์


ในระหว่างการเดินทางไปทำงานและกลับบ้านทุก ๆ วันท่ามกลางการจราจรอันแออัด คุณแม่มีโอกาสได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่มีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากรถยนต์ที่วิ่งอยู่ตามถนน และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สุขภาพของคุณแม่แย่ลงได้


อาการ : ถ้าได้รับปริมาณน้อย ๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หายใจ หอบสั้น คลื่นไส้ ง่วงซึม และการตัดสินใจไม่ค่อยเด่นชัด มีความสับสน แต่ถ้าในระดับความเข้มข้นที่สูงมาก ๆ ก็ทำให้ประสาทมึนงง ซึม และหมดสติ


วิธีป้องกัน : ใช้ผ้าปิดปาก หลีกเลี่ยงการสูดดมหรืออยู่ในสถานที่ที่ระบายอากาศได้ดี

ความปลอดภัยของสาร SLS ( Sodium Lauryl Sulfate) ในเครื่องสําอาง

ขณะนี้ได้มีข่าวเกี่ยวกับสาร SLS ( Sodium Lauryl Sulfate) ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ต่างประเทศได้ยกเลิกการใช้สารประเภทนี้ไปแล้ว แต่ในประเทศไทยยังมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง โดยเฉพาะสบู่เหลว ซึ่งใช้กันทุกเพศทุกวัย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่ได้นิ่งนอนใจได้ทำการสืบค้นและติดตาม ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสารที่ใช้ในเครื่องสำอางมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณี ความปลอดภัยของสาร SLS ( Sodium Lauryl Sulfate) ในเครื่องสำอาง

สารโซเดียม ลอริล ซัลเฟต หรือที่นิยมเรียกในชื่อย่อว่า เอสแอลเอส (Sodium Lauryl Sulfate : SLS) เป็นสารที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ช่วยให้สิ่งสกปรก คราบไขมันหลุดออกไปได้ง่ายขึ้น จึงเรียกง่ายๆ ว่าเป็นสารทำความสะอาด นิยมใช้ทั้งในวงการอุตสาหกรรมและเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น เครื่องสำอาง น้ำยาล้างจาน (โดยใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้) เครื่องสำอางที่นิยมผสมสารนี้ ได้แก่ เครื่องสำอางที่ใช้แล้วล้างออกด้วยน้ำ เช่น สบู่เหลว แชมพู ตลอดจนยาสีฟัน

และจากการศึกษาวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและในคน พบว่าอันตรายของสารนี้ คือ ระคายเคือง ต่อดวงตา และผิวหนัง โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารนี้ในผลิตภัณฑ์ และระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์สัมผัสร่างกาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนสรุปว่าสาร SLS มีความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดมะเร็งในคน ซึ่งข้อมูลความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดมะเร็งจากสารกลุ่มนี้ อาจมาจากสิ่งปนเปื้อนที่เป็นสารก่อมะเร็ง คือ 1,4 Dioxane แต่ปัจจุบันในกระบวนการผลิตสารทำความสะอาด สามารถกำจัดสิ่งปนเปื้อนนี้ได้ด้วยการใช้ระบบสูญญากาศ (ซึ่งไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก) อีกทั้งได้มีการศึกษาพบว่า โอกาสที่จะพบ 1,4 Dioxane ในเครื่องสำอางสำเร็จรูปมีน้อย จึงไม่ควรกังวลว่าสาร SLS ในเครื่องสำอางจะก่อให้เกิดมะเร็ง

ทั้งนี้เครื่องสำอางที่ผสมสาร SLS อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้บ้าง เช่น แชมพูเข้าตาทำให้แสบตา หรือฟอกสบู่เหลวนานเกินไป อาจระคายเคืองผิว ทำให้ผิวแห้งได้ ขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศไทย มิได้ห้ามใช้สารนี้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง แต่หากผู้บริโภคต้องการหลีกเลี่ยงสาร SLS ในเครื่องสำอาง สามารถเลือกใช้เครื่องสำอางที่ฉลากระบุว่า “ Sodium Lauryl Sulfate Free” ได้

ขณะนี้มีสารทำความสะอาดอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กัน คือ Sodium Laureth sulfate (SLES) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า SLS และยังไม่มีข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการเป็นสารก่อมะเร็ง

ดังนั้น ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนกกับเรื่องนี้จนเกินไป หากพบข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสาร หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ โดยเฉพาะข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเชิงบวก หรือเชิงลบ จำเป็นต้องตรวจสอบแหล่งที่มา ความน่าเชื่อถือของข้อมูล ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆ ให้กระจ่างชัด ก่อนที่จะดำเนินการหรือตัดสินใจใดๆ

+++++ อันตรายของสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางค์ +++++

> เครื่องสําอางเป็นเพื่อนคู่ใจที่ช่วยให้สาวๆทั้งหลายดูสวยดึงดูดใจมากขึ้น แต่รู้ไหมว่ามีสารเคมีหลายชนิดที่หากใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสําอางค์ก็จะ ก่อพิษให้ร่างกาย ได้แก่
>
> MINERAL OIL (Petrolatum) : สารจากการสกัดนํ้ามันปิโตรเลียม ใช้เพื่อรักษาความชุ่มชื้น แต่อาจอุดตันรูขุมขนจนเกิดสิวได้
>
> PROPYLENE GLYCOL : ใช้ป้องกันการจับเป็นก้อนแข็งในมอยส์เจอร์ไรเซอร์บางยี่ห้อ มีผลเสียต่อระบบประสาทส่วนกลางและเป็นสารตั้งต้นสารก่อมะเร็ง
>
> TRIETHANOLAMINE (TEA) : ใช้ปรับค่าสมดุลกรดด่างในผลิตภัณฑ์เพื่อผิวกาย ซึ่งหากมีมากก็จะระคายเคือง และมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์
>
> ISOPROPYL MYRISTATE (IPM) : ใช้เคลือบผิวรักษาความชุ่มชื่น อาจอุดตันรูขุมขนได้
>
> POLYETHYLENE: เป็นเม็ดพลาสติกใช้ในการสครับขัดผิว แม้ไม่ซึมผ่านผิวหนังได้ แต่ก็อาจระคายเคืองผิว
>
> IMIDAZOLIDINYL1 AND DIAZOLIDDINYL1 UREA: สารกันเสียในเครื่องสําอาง การสลายตัวทําให้เกิดฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) มีผลต่อผิวหนังและระบบหายใจ เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง
>
> PARABEN: สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น ใช้ในผลิตภัณฑ์หลายประเภทจึงง่ายต่อการสะสมในร่างกาย หากปริมาณมากจะขัดขวางการทํางานของต่อมไร้ท่อ
>
> SODIUM LAURETH SULFATE (SLES): พบในแชมพูและเจลอาบนํ้า ใช้เพื่อให้เกิดฟองและลดแรงตึงผิว อาจทําให้เส้นผมและผิวอ่อนแอลง
>
> ARTIFICIAL COLORS: สีที่ใช้เติมแต่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากมีส่วนผสมของสารหนูและสารตะกั่วก็จะเป็นสารก่อมะเร็งได้
>
> SILICONE: สารคล้ายยาง มีความยืดหยุ่นสูง นิยมใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ เช่น ครีมนวดผม อาจสะสมในตับและต่อมนํ้าเหลืองได้
>
> PETROLEUM DERIVATIVE: สารจากการแยกนํ้ามันปิโตรเลียม ใช้เพื่อกักเก็บความชื้นของผิว อาจทําให้ผิวระคายเคือง อุดตัน เกิดเป็นสิว
>
> SYNTHETIC POLYMER: สารโพลีเมอร์ที่ใช้เจลแต่งผมหรือครีมนวดผมบางยี่ห้อ ซึ่งหากเป็นสารที่ได้จากพืชก็จะเป็นมิตรกับร่างกายมากกว่าสารจากพลาสติก สังเคราะห์
>
> POLYETHYLENE GLYCOL : ใช้เพิ่มความชุ่มชื้นในครีมทําความสะอาดและบํารุงผิว ซึ่งสถาบันเผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัตถุในสหรัฐอเมริกา ได้ออกคําเดือนว่าระคายเคืองต่อผิวสูง ทั้งอาจเป็นสาเหตุความผิดปกติของตับและไต และอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งตับและจมูก
>
> QUATS: สารชะล้างที่ใช้ผสมในผลิตภัณฑ์ เช่น นํ้ายาล้างพื้น หากนํามาผสมในแชมพูหรือเจลอาบนํ้าก็จะทําให้เกิดผดผื่นและทําลายระบบหายใจ
>
> ดังนั้นเวลาที่เลือกซื้อเครื่องสําอางก็ควรอ่านฉลากที่ระบุส่วนผสมดูก่อนว่า สารเหล่านี้เป็นส่วนผสมหรือไม่ ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้มักจะเรียงจากปริมาณมากที่สุดไปถึงน้องที่สุดตามลําดับ ในฉลาก ควรสวยแบบปลอดสารเคมี เพื่อให้ผิวได้พักผ่อนบ้างก็น่าจะได้
>
> เรื่องคัดลอกจาก นิตยาสาร herworld
>

การจัดการสารเคมีในกระแสโลก : ประเทศไทยอยู่ตรงไหน

การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อหลายสิบปีก่อนหน้านี้ เน้นที่การจัดการปลายท่อ หมายถึง ดูแค่ว่าของเสียที่ถูกปล่อยออกมาจะจัดการได้อย่างไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์การเรียนรู้จากสภาพปัญหาก็ทำให้วิธีคิดของการจัดการมาเน้นตั้งแต่ต้นทาง ถ้าต้นทางดูแลได้ดี ปัญหาที่ปลายทางก็จะลดลง และเพื่อจะให้เกิดความยั่งยืน ก็ต้องดูทั้งระบบตลอดสายและมองให้ครบทุกมิติของเศรษศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลตอกัน การจัดการสารเคมีก็ทำนองเดียวกัน ครั้งหนึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตต้นทาง คิดถึงแต่ความเสี่ยงจากการผลิตไปสู่ อากาศ น้ำ สิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้วการปลดปล่อยสารพิษเกิดขึ้นระหว่างการใช้และการทิ้งด้วย เช่น ตะกั่วในของเล่นและเครื่องประดับ สาร PFC (Perfluorinated compound) ในสิ่งทอ ใช้ในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อใช้เป็นวัสดุกันน้ำ สารตัวนี้คงทน จึงสะสมได้ในระบบชีวภาพ DEHP (Diethylhexyl phthalate) ใช้เป็น plasticizer ในพลาสติก PVC จะหลุดออกมาระหว่างการใช้ ตัวอย่างเช่นนี้มีอีกมากมาย สารเคมีที่ออกมาสู่ตลาด ก็ไม่แน่ว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับอันตรายเพียงพอเพียงใด  เพราะเมื่อก่อนการศึกษายังไม่ครบถ้วน อาจมีการมาพบที่หลังว่าเกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว การส่งต่อสารอันตรายจึงกระจายไปได้ทั่วโลกโดยผ่านตัวสินค้าที่ค้าขายกัน
            สภาพปัญหาจึงเป็นประเด็นสากลเพื่อลดความเสี่ยง มาตราการระดับอนุสัญญาสหประชาชาติออกมาหลายอนุสัญญา เช่น
อนุสัญญารอตเตอร์ดัมเพื่อให้มีการแจ้งขออนุญาตก่อน (Convention on the Prior Informed Consent Procedure for Certain Hazardous Chemicals and Pesticides in International Trade, PIC) หรืออนุสัญญาสตอกโฮล์มเกี่ยวกับสารตกค้าง (Protocols on Heavy Metal and Persistent Organic Pollutants, POPs) ในกระแสโลกแนวคิดของการจัดการสารเคมีจึงหันมาให้ความสำคัญกับหลักการป้องกันไว้ก่อน (precautionary) เพราะการจัดการแบบเดิมไม่สามารถให้ความมั่นใจต่อความปลอดภัยของสังคมได้ มาตรการหรือกฎหมายของประเทศต่างๆได้ถูกปรับเปลี่ยนเกือบจะเรียกว่า โละทิ้งกฎหมายเก่า เพื่อให้เกิดการจัดการเชิงรุกมากกว่าการล้อมคอก ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2008 ได้ปรับปรุงกฎหมาย Consumer Product Safety ที่มีมาตั้งแต่ ค.ศ.1973 ยกเครื่องกฎระเบียบให้ผู้บริโภคสบายใจได้ว่าสินค้าที่อยู่บนหิ้งในร้านปลอดภัย เช่น มีการห้ามใช้ตะกั่วในของเล่นเด็ก กำหนดมาตรฐานใหม่ของสารหลายชนิดในผลิตภัณฑ์ ประเทศแคนนาดาประกาศใช้กฎหมายทำนองเดียวกันเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2010 สำหรับประชาคมยุโรปได้ออกระเบียบ REACH ในปี ค.ศ.2007 (Registration, Evaluation, Authorisation and Restriction of Chemicals) เพื่อจัดระบบใหม่ให้มีมาตรการที่ทำให้มีข้อมูลสารเคมีทุกชนิดเข้าสู่ระบบ โดยให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบในข้อมูลการประเมินความเสี่ยงทั้งหลาย และข้อมูลความปลอดภัยเหล่านี้จะต้องถูกส่งต่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน แม้ว่าจะเป็นมาตรการใช้กับภาคีสมาชิก แต่เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้าขายโดยปริยาย ประเทศคู่ค้าทั้งหลายจึงถูกกระทบไปด้วย ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศผู้ผลิตก็มีความเคลื่อนไหวในทางที่ดีขึ้น นอกจากจะปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว บางแห่งก็มีมาตรการเพิ่มขึ้นตามความสมัครใจ ภาคธุรกิจเริ่มขยับตัวเห็นได้จาก Wal-Mart ได้ตกลงกับสมาคมการค้า ผู้จัดจำหน่าย (supplier) และบริษัทจัดการข้อมูล เพื่อสร้างระบบการจัดการข้อมูล โดยเน้นที่ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณสารเคมีสูงและกระจายกว้างขวางในตลาด เช่น ผลิตภัณฑ์ซักล้าง คำว่า “สารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Chemicals in Product, CiP)” เริ่มพูดกันมากขึ้น มีเว็บไซต์หลายแห่งที่เปิดให้บริการ เพื่อผู้บริโภคจะทราบได้ว่าส่วนประกอบทางเคมีในผลิตภัณฑ์คืออะไร วิธีใช้อย่างปลอดภัยคืออะไร ความเคลื่อนไหวได้เคลื่อนเข้าสู่ภาคการเงินไปแล้ว ดังธนาคาร HSBC ยังมีนโยบายสารเคมีกำหนดขึ้นในการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคและสารเคมี เพราะจริงๆ แล้วประเด็นนี้ก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อธุรกิจ และต่อภาพพจน์ของธุรกิจ เวทีขององค์การสิ่งแวดล้อมโลก (UNEP) ในโปรแกรม SAICM (Strategic Approach to International Chemical Management) ก็ใช้ประเด็น CiP เป็นตัวขับเคลื่อน
            จะเห็นได้ว่าการจัดการสารเคมีต้องทำเชิงรุก ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การคาดการณ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ และองค์ประกอบสำคัญในการจัดการเชิงรุกก็อยู่ที่ตัวข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสารเคมี ที่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การผลิต การใช้ จนถึงการทิ้ง และกำจัด ข้อมูลดังกล่าวนี้ต้องส่งต่อ สื่อสารตลอดเส้นทางของห่วงโซ่อุปทาน ข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญในการตัดสินใจใช้ของผู้เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่คนออกแบบสินค้า คนงานในโรงงาน คนขายส่งขายปลีก ถึงผู้บริโภค และต่อไปจนถึงผู้นำกลับมาใช้ และกำจัด อุตสาหกรรมจะสร้างความน่าเชื่อถือต่อสังคมได้ ก็ต่อเมื่อสังคมแน่ใจได้ว่า สารเคมีที่มีในตลาด และในสินค้าได้รับการประเมินถึงอันตรายแฝง ข้อมูลสารเคมีจากต้นทางจึงมีความสำคัญและต้องเข้าถึงได้ในระดับหนึ่ง จึงมีการจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ใช้ (Chemical inventory) และฐานข้อมูลสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (CiP) เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ส่วนมากคือประเทศพัฒนาแล้ว จากแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Greener Economy) ที่มีอุปสรรคอยู่ที่การขาดข้อมูลของสารเคมี
            การจัดการสารเคมีของไทยอยู่ในสภาพคล้ายๆ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย คือขาดข้อมูลพื้นฐานทั้งหลาย มาตรการที่ไม่เข้มงวดจึงเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งร่วมเวทีกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นสมาชิกที่ดีปฏิบัติตามโดยตลอด ในขณะที่ผู้บริโภคในประเทศคู่ค้า เช่น EU เข้มแข็งขึ้น การคุ้มครองความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องเข้ามาเกี่ยวกับการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็ยังตามไม่ทันนโยบายหรือมาตรการใหม่ๆ ของประเทศคู่ค้า ขาดการพัฒนากฎหมาย จึงถูกบีบด้วยมาตรการฝ่ายเดียวอย่าง REACH ของ EU เป็นต้น กฎหมายและมาตรการบังคับใช้ที่อ่อนแอ เป็นช่องว่างให้เกิดการหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะเรียกร้อง การย้ายฐานการผลิต การใช้สารต้องห้าม การนำเข้า ครอบครอง และขนส่งสารอันตราย ล้วนมาจากปัญหาพื้นฐานของการขาดข้อมูลสารเคมีทั้งสิ้น
            ดังนั้นหากประเทศไทยจะลุกขึ้นจัดการสารเคมีเชิงรุก จำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ ภาคอุตสาหกรรมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ตั้งแต่การจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ใช้ (Chemical inventory) และรายการสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Chemicals in Product) มาตรการภาครัฐฯ ต้องดำเนินการภายใต้หลักการป้องกันไว้ก่อนและหลักของสิทธิการรับรู้ เพื่อให้ภาพรวมและการเคลื่อนไหวของสารเคมีปรากฎชัดขึ้นเพียงพอต่อการกำหนดนโยบายหรือมาตรการได้อย่างถูกทิศทาง และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค รวมทั้งสังคมในภาพกว้าง เมื่อตั้งต้นจากการมีข้อมูลพื้นฐานแล้ว เรื่องของความปลอดภัยด้วยการส่งต่อข้อมูลตลอดสายโซ่อุปทาน การมีเทคนิคการสื่อสาร การสร้างความตระหนักรู้ย่อมทำได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะไปในทิศทางที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของสินค้าต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเข้มข้นขึ้นทุกที
            ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม “เกาะกระแสโลก” เราสามารถที่จะเรียนรู้วิธีคิดของกระแสโลกอย่างมีเหตุมีผล เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการจัดการให้เหมาะสมกับเราได้อย่างรู้เท่าทัน อยู่ที่ว่าเราจะเริ่มหรือไม่ และทำอย่างไรดี ทั้งนี้มิใช่เพื่อใครอื่น แต่เพื่อความปลอดภัยทางสังคมไทยและสิ่งแวดล้อมของไทยเอง

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

การเก็บสารเคมีให้ถูกต้อง

ข้อควรระวังในการจัดเก็บสารเคมี

ข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (SDS) ในส่วนที่ 7 (Handling and storage) แสดงข้อควรระวังในการจัดเก็บสารเคมี ได้แก่ สภาวะแวดล้อมที่ควรหลีกเลี่ยง และสารเคมีที่ไม่ควรเก็บรวมกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการพิจารณาในการจัดเก็บสารเคมีที่ผู้ใช้และครอบครองสารเคมีควรรู้ แต่นอกจากข้อมูลที่แสดงในส่วนที่ 7 นี้นั้น ยังมีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจเพิ่มเติม นั้นคือข้อมูลในส่วนที่ 14 (Transport information) แสดงข้อมูลการจำแนกสารเคมีตามลักษณะอันตรายของสหประชาชาติ หรือ UN class ซึ่งมีความหมายดังนี้
            Class 1 หมายถึง สารระเบิดได้
            Class 2 หมายถึง ก๊าซ
                          Class 2.1 หมายถึง ก๊าซติดไฟได้
                          Class 2.2 หมายถึง ก๊าซไม่ติดไฟ ไม่เป็นพิษ
                          Class 2.3 หมายถึง ก๊าซพิษ
            Class 3 หมายถึง ของเหลวติดไฟได้
            Class 4 หมายถึง ของแข็งติดไฟ
                          Class 4.1 หมายถึง ของแข็งติดไฟ
                          Class 4.2 หมายถึง วัตถุที่มีแนวโน้มเกิดการเผาไหม้ได้เอง
                          Class 4.3 หมายถึง สารที่ทำปฏิกิริยากับน้ำแล้วเกิดก๊าซติดไฟได้
            Class 5 หมายถึง สาร Oxidizing และ Organic peroxides
                          Class 5.1 หมายถึง Oxidizing agents
                          Class 5.2 หมายถึง Organic peroxides
            Class 6 หมายถึง สารพิษและสารติดเชื้อ
                          Class 6.1 หมายถึง สารพิษ
                          Class 6.2 หมายถึง สารติดเชื้อ
            Class 7 หมายถึง สาร/วัตถุกัมมันตรังสี
            Class 8 หมายถึง สารกัดกร่อน
            Class 9 หมายถึง สารอันตรายอื่นๆ
            แม้ว่าข้อมูลในส่วนที่ 14 นี้เป็นข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการขนส่ง แต่สามารถนำมาใช้ในการจำแนกสารเคมีเพื่อการจัดเก็บเช่นเดียวกับการจำแนกสารเคมีโดยระบบอื่น โดยที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดมาตรฐานในการแยกเก็บสารเคมีแยกตาม UN class ดังแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 การแยกเก็บสารเคมีตามประเภทของสารเคมีอันตราย
หมายเหตุ

            NA หมายถึง สามารถจัดเก็บบริเวณเดียวกันได้

            SG หมายถึง ต้องแยกจากกันอย่างน้อย 3 เมตร

            FS หมายถึง เก็บแยกจากกันหรือห่างกันอย่างน้อย 5 เมตร
            PR หมายถึง ห้ามอยู่ใกล้เคียงกัน ต้องแยกจากกันอย่างน้อย 10 เมตร

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

อัลเบิรต์ ไอสไตน์
ประวัติ
ไอน์สไตน์เกิดที่เมืองอูลม์ ประเทศ เยอรมันนี เมื่อ วันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1879 ปีต่อมาครอบครัวของเขาก็ได้ย้ายจากเมืองอูลม์ไปอยู่มิวนิค เขามีจิตใจรักทางดนตรีและสามารถสีไวโอลินได้ดีเมื่อมีอายุเพียง 6ปี พอมีอายุได้ 12ปี เขาก็สามารถเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้ด้วยตนเอง ด้วยความที่เขาเรียนเก่งทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เขาจึงสอบเข้าเรียนที่ The Federal Institute of Technology ในซูริคประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากจบการศึกษาในปี 1900ไอน์สไตน์ก็ทำงานเป็นครูสอนทาง ไปรษณีย์อยู่2ปีจึงได้ทำงานเป็นผู้เชี่ยงชาญทางเทคโนโลยีในสถาบัน แห่งหนึ่งในกรุงบอร์น ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลสาขาฟิสิกส์ในปี1921 ขณะที่เขาอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นช่วงเวลาที่ฮิตเลอร์เรืองอำนาจและทำ การกวาดล้างชาวยิวไอน์สไตน์ซึ่งมีเชื้อสายยิวจึงถูกปลดออกจากการเป็น พลเมืองชาวเยอรมันเขาจึงตกลงใจจะอยู่ในสหรัฐโดยทำงานอยู่ที่สถาบัน การศึกษาในปรินซ์ตัน นิวเจอร์ซี และได้สัญชาติอเมริกันในปี1941 ไอน์สไตน์ ได้รับการยกย่องอย่างสูงก็โดยเหตุที่เขาให้ทฤษฎีแห่งความ สัมพันธ์ซึ่งเป็นทฤษฎีโดยเฉพาะสำหรับปฏิบัติกับวิชาเคลื่อนที่ของไฟฟ้า และทรรศนะศาสตร์ นอกจากนี้เขายังได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสำคัญ อันเป็นประโยชน์ต่อทฤษฎี Quantum และทฤษฎีทั่วไปที่เกี่ยวกับ ความโน้มถ่วง ตลอดชีวิตของเขาได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่วงการ วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันไว้อย่างมากมาย ไอน์สไตน์ถึง แก่กรรมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1955
ผลงาน
-เป็นผู้ให้กำเนิด "ระเบิดปรมาณู" -เป็นเจ้าของทฤษฎีแห่งความสัมพันธ์ -ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1921
หลุยส์ ปาสเตอร์
ประวัติ
หลุยส์ ปาสเตอร์ เกิดในปี ค.ศ.1822 ที่เมืองเล็กๆในประเทศฝรั่งเศส บิดาของเขาต้องการให้หลุยส์ เป็นครูจึงส่งเข้าไปเรียนที่กรุงปารีส จนสำเร็จการศึกษาและได้เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยเมื่ออายุได้32ปี จุลชีพเป็นสิ่งที่ปาสเตอร์สนใจมากทุกคนรู้ว่าเนื้อจะเน่าเปื่อยหากทิ้ง เนื้อไว้กลางแจ้งและทุกคนสามารถมองเห็นตัวจุลชีพในเนื้อได้ด้วย กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายมากแต่ไม่มีใครรู้ว่าจุลชีพมาจากที่ใด นักวิทยาศาสตร์หัวโบราณคิดว่าเนื้อเน่าทำให้เกิดพวกมัน แต่ปาสเตอร์ ไม่ค่อยแน่ใจนัก เขากลับไปยังวิทยาลัยที่เคยเรียนในกรุงปารีสซึ่งเขา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการทางวิชาวิทยาศาสตร์ เขาใช้เวลา ทั้งหมดของเขาทำการค้นคว้าเรื่องจุลชีพ ในที่สุดหลุยส์ก็ค้นพบว่า จุลชีพนั้นเกิดจากฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศมิใช่มาจากอาหารที่ บูดเน่า เขาพิสูจน์โดยการนำเอาขวดซุปเนื้อขึ้นไปบนภูเขาแอลป์ซึ่ง มีอากาศบริสุทธิ์และไม่มีฝุ่นละอองเขาเปิดขวดเหล่านั้นและปล่อยทิ้งไว้ เขาพูดถูกน้ำซุปไม่เสีย บนหิ้งต่างๆของพิพิธภัณฑ์ปาสเตอร์ในกรุงปารีส มีขวดปิดไว้ซึ่งจัดทำขึ้นโดยปาสเตอร์น้ำซุปเนื้อในนั้นยังคงไม่บูดเน่า หลังจากนานกว่าร้อยปี การค้นคว้านี้ทำให้เกิดอาหารกระป๋องที่เรา รู้จักกันทุกวันนี้ ต่อมาปาสเตอร์ได้ทำการทดลองเพื่อหาวิธีรักษา โรคกลัวน้ำ หลังจากทำการทดลองที่เสี่ยงอันตรายหลายครั้งเขาก็ ประสบผลสำเร็จซึ่งการค้นพบวิธีรักษาโรคกลัวน้ำใหความหวังแก่ ผู้คนในหลายประเทศ หลุยส์ ปาสเตอร์ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.1895 มีผู้คนมากมายโศกเศร้าต่อการเสียชีวิตของเขา เขาไม่เพียงแต่เป็น นักวิทยาศาสตร์เท่านั้นแต่ยังเป็นบุคคลสำคัญอีกด้วย
ผลงาน
-ค้นพบวิธีรักษาสิ่งของไม่ให้เน่าเสียโดยวิธีพาสเจอร์ไรซ์ -ค้นพบวัคซีนในการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า

โทมัส เอดิสัน
ประวัติ
โทมัส เอลวา เอดิสัน เกิดในปี ค.ศ.1847 ที่มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อเข้าโรงเรียนครูกล่าวว่าเขาไม่สามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้ ดังนั้นหลังจากเรียนอยู่ได้3เดือนบิดามารดาก็ต้องเอาออก จากโรงเรียนแล้วมารดาก็เป็นผู้สอนแทนเธอสอนให้อ่านและ เขาก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับเคมีที่สามารถจะหาได้ พออายุได้12ปี เขาได้ทำงานเป็นเด็กเดินข่าวของรถไฟ ขายหนังสือพิมพ์และผลไม้ เอดิสันหูตึงเพราะถูกพนักงานรักษารถไฟคนหนึ่งกระแทกที่หูอย่าง แรงเมื่อเขาทำสารเคมีชนิดหนึ่งหกลงไปจนเกิดไฟลุกในรถเก็บของ ซึ่งเอดิสันใช้เป็นห้องทำงานและทำการทดลองวิทยาศาสตร์ จากอุบัติเหตุทำให้เกิดไฟไหม้ครั้งนั้นทำให้เอดิสันถูกไล่ออก และตกงานแต่นายสถานีประทับใจในความเฉลียวฉลาดและ ไหวพริบของเขาจึงได้สอนเรื่องการส่งโทรเลขให้ดังนั้นเมื่อ เขาอายุได้15ปีก็ได้เข้าทำงานเป็นคนส่งโทรเลขเขาได้ประดิษฐ์ เครื่องทุ่นแรงสำหรับส่งโทรเลขในปี 1869ขณะอายุได้21ปีและ ได้จดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของเขา ต่อมาในปี1878 เอดิสันก็ได้ประดิษฐ์หลอดไฟหลอดแรกของโลกได้เป็นผลสำเร็จ เอดิสันได้จดลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ของเขามากกว่า1200ชนิด ผลงานของเขาอาทิเช่นหลอดไฟฟ้า,หีบเสียง,เครื่องบันทึกเสียง ฯลฯ เอดิสันทำงานอย่างขยันขันแข็งคืนหนึ่งๆเขานอนเพียง4-5ชั่วโมง เท่านั้นในตอนปลายของชีวิตสุขภาพของเขา ทรุดโทรมไปมากและถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.1931
ผลงาน
-เป็นผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า -เป็นผู้ประดิษฐ์หีบเสียง -เป็นผู้ประดิษฐ์จานเสียง -เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียง -เป็นผู้ประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพยนตร์
กูกิลโม มาร์โคนี
ประวัติ
กูกิลโม มาร์โนี เกิดเมือ่ปี 1874 ที่โบโลนา ในประเทศอิตาลี มีบิดาเป็นชาวอิตาเลียนและมารดาเป็นชาวไอริช เขาได้รับแรงดลใจจากการค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ของคลาร์ค แม็กซ์เวลล์ และการทดลองการส่งกระแส ไฟฟ้าผ่านเส้นลวดของไฮริช เฮิร์ท นักวิทยาศาสตร์ชาว เยอรมันหลังจากการค้นพบของเฮิร์ทไม่นาน เด็กหนุ่ม ชาวอิตาลีชื่อ กูกิลโม มาร์โคนี ซึ่งศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย โบโลนา ในประเทศอิตาลีได้พบปะกับนักวิทยาศาสตร์คน หนึ่งซึ่งเคยทำงานกับเฮิร์ทในประเทศเยอรมีน งานของ เฮิร์ททำให้มาร์โคนีเกิดจินตนาการเขาได้สร้างเครื่องรับ ส่งวิทยุอย่างง่ายๆ ไว้ในห้อง 2 ห้องที่บ้านของบิดาและ ในไม่ช้าเขาก็สามารถส่งสั้ญญาณข้ามห้องจากห้องหนึ่ง ไปยังอีกหน้องหนึ่งได้ เขาพบว่าถ้าเขา สร้างเสาอากาศให้สูงขึ้น เขาจะสามารถส่งสัญญาณของเขาได้ไกลขึ้น ในปี ค.ศ.1895 เมื่อเขาอายุได้ 21 ปี เขาส่งสัญญาณไปไกลถึง 1.5 กิโลเมตร เขาเห็นความสำคัญของ การค้นพบนี้ การทดลองต่อต้องการทุนทรัพย์ แต่ไม่มีใครสนใจในเรื่องนี้นัก เมือ่เขา ไม่ได้รับการสนับสนึนในอิตาลีจึงเดินทางไปลอนดอนในปี 1896 และการไปรษณีย์ ของอังกฤษให้ความช่วยเหลือและด้วยการปรับปรุงวิธีการของเฮิร์ทในหลายๆ ด้านเขา เริ่มสามารถส่งสัญญาณไปไกล ๆ ขึ้นในปี ค.ศ 1899 เขาส่งสัญาณจากสถานีหนึ่ง บนฝั่งด้านใต้ไปยังสถานีในฝรั่งเศสซึ่งไกลออกไป50กิโลเมตรและที่ระย120 กิโลเมตร สำเร็จเจ้าของเรื่อเริ่มติดตั้งเครื่องมาร์โคนี ในเรือเดินทะเลของเขา หลายคนรู้สึก ประทับใจเมื่อเรือที่กำลังเดินทางในกู๊ดวินแซนด์ในทะเลเหนือได้รับการเตือนให้ทราบ ถึงภัยอันตรายด้วยคลื่อนวิทยุจากมาร์โคนี ทำให้เรือกับลูกเรือทุกคนปลอดภัย ในปี ค.ศ 1901 มาร์โคนี ส่งสัญญาณวิทยุได้ระยะทางไกลกว่า 2700 กิโลเมตร จากคอร์นวอลถึงนิวฟาวน์แลนด์ที่ทุกคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะแม็กซ์เวลได้ แสดงให้เห็นว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเดินทางเป็นเส้นตรงเหมือนแสงแต่ระยะทาง นิวฟาวน์แลนด์ไม่ได้เป็นทางตรง เพราะโลกนี้โค้งทุกคนคิดว่าคลื่นวิทยุของเขา จะเดินเป็นเส้นตรงและหายไปในอากาศ แต่ปรากฏว่าคลื่นวิทยุที่รับได้ที่ นิวฟาวน์แลนด์นั้นชัดเจนซึ่งแม้แต่มาร์โคนีก็ไม่ทราบเหตุผล ในปัจจุบันี้เรา ทราบว่าสูงขึ้นไปจากระดับน้ำทะเลประมาณ 110 กิโลเมตร จะมีชั้นรอนุภาค ไฟฟ้าซึ่งเรียกกันว่าไดโอดนสเฟียร์และชั้นนี้จะเป็นตัวสะท้อนคลื่อนวิทยุกลับ มายังโลกเมื่อคลื่นไปกระทบถูกชั้นบรรยากาศ 20,000 เมตรถ้าส่งข่าวสาร ออก ณ ความยาวคลื่นหนี่งหรือความถี่หนึ่งเครื่องรับจะต้องปรับให้ตรงกับ ความยาวคลื่นเครื่องวิทยุของเราจึ่งมีหน้าปัทม์ที่มีตัวเลขหรือเครื่องหมาย บอกความยาวของคลื่น เพื่อให้เราสามารถเลื่อกโปรแกรมที่เราต้องการฟังได้ วิทยุคลื่นสั้นความถี่สูง เป็นส่งที่เหมาะกับรายการที่ถูกส่งมาจากระยะไกลๆ หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มาร์โคนีทำการทดลองส่วนใหญ่เกี่ยวกับ สัญญาณคลื่นสั้นในระยะเวลาอันสั้นที่มาร์โคนีมีชีวิตอยู่วิทยุได้พัฒนามาจาก การค้นพบเของเฮิร์ทจนมีรายการทั้งการพูด ดนตรีถูกส่งไปทั้วโลกเมื่อเขา ถึงแก่กรรมในโรม เมื่อปี 1937 ได้มีการจัดงานกันอย่างเป็นทางการและศพ เขาได้ฝังในบ้านเกิดของเขาที่โบโลนา ประเทศอิตาลี
ผลงาน
-เป็นผู้ประดิษฐ์โทรเลขไร้สายเป็นคนแรกของโลก -ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ.1909
ชาร์ลส์ ดาร์วิน
 
ประวัติ
ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1809 ในชูว์เบอรี่ ประเทศอังกฤษ บิดาของเขาเป็นนายแพทย์ซึ่งต้องากรให้ลูกชายดำเนินอาขีพทางด้านนี้เช่นกัน เขาจึงถูกส่งเปเรียนการแพทย์ที่เอดินเบอระ แต่เรียนได้ 2 ปีก็ลาออกเพราะใจไม่ชอบ ทางนี้ ชาร์ลส์เป็นคนที่ชอบสะสมสิ้งของที่เขาสนใจ เช่น แมลง (ที่ตายแล้ว) เปลือกหอย ไข่นก เหรียญต่างๆ และหินแปลกๆ เขาเล่าในภายหลังว่าการสะสมของเขาเป็นการ เตรียมให้เขาทำงานเป็นนักธรรมชาติวิทยา หลังจากที่ลาออกจากการเรียนแพทย์ บิดาจึงส่งชาร์ลส์ไปยังมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เรียนทางศาสนาเพื่อจะบวชเป็นพระ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นี้เองที่เขาได้รับการแนะนำจากอาจารย์สอนพฤกษศาสตร์ คนหนึ่ง ให้เขาไปเรียนวิชาธรณีวิทยาเพิ่มเติม จึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มความรู้ในวิชา ธรรมชาติวิทยาที่เขาสนใจให้กว้างขาวางยิ่งขึ้น มีเรื่องเล่าว่าวันปนึ่งชาร์ลส์ได้เห็น แมลงที่หายากสองชนิดบนต้นไม้ เขาจับไว้ด้วยมือแต่ละข้างอย่างรวดเร็วแต่แล้วเขา เห็นตัวที่สาม ยิ่งหายากกว่า แมลงนั้นอยู่ตรงหน้าของเขาเขาเอาแมลงตัวหนึ่งใส่เข้าไป ในปากอย่างรวดเร็ว และยื่นมือออกไปจับตัวที่สามแต่ตัวที่อยู่ในปากของเขาได้คายน้ำ ชนิดหนึ่งออกมาซึ่งทำให้ลิ้นของชาร์ลส์ปวดแสบปวดร้อนอย่างมากจนทำให้เขาต้องถ่ม แมลงตัวนี้นออกมาเขาเป็นห่วงว่าจะสูญเสียแมลงตัวนั้นมากกว่าเป็นห่วงว่าจะทำให้ลิ้น เจ็บและแล้วโชคก็ผ่านมาในชีวิตเขากองทัพเรือได้เตรียมการออกสำรวจรอบโลกโดย ทางเรือชื่อ บีเกิล เพื่อเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการรับรองของศาสตราจารย์ เฮนสโลวดาร์วินได้รับเชิญให้เป็นนักสำรวจธรรมชาติวิทยาการสำราจใช้เวลานานถึง 5 ปีทำให้ ดาร์วินได้มีโอกาสเปรียบเทียรสัตว์และพืชจากส่วนต่างๆ ของโลก เขาได้ เห็นสัตว์ที่มีถุงหน้าท้อง เช่น จิงโจ้ ในประเทศออสเตรเลีย และในนิวซีแลนด์ ซึ่งจะไม่ พบในประเทศอื่นเมื่อการสำรวจมาถึงหมู่เกาะกาลาพากอสในอเมริกาใต้ดาร์วินก็ได้ พบสัตว์ชนิดต่างๆ และพบว่าแต่ละเกาะมีสัตว์เฉพาะชนิดซึ่งไม่พบในเกาะอื่น สิ่งที่พบ เห็นทำให้ดาร์วินต้องคิดอย่างหนัก สำหรับเขาเหมือนกับว่าสัตว์เหล่านั้นมี่การเปลี่ยน แปลงลักษณะพิเศษที่ช่วยให้มันมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นๆ ส่วนตัวใดที่ ไม่มีลักษณะเช่นนั้นก็จะตายไปส่วนที่อยู่ก็ได้ถ่ายทอดลักษณะนั้นๆไปยังลูกหลานการ เปลี่ยนแปบงเป็นไปอย่างช้าๆ ตลอดเวลาหลายพันปี ชนิดที่อ่อนแอและมีส่วนที่ด้อย กว่าก็จะตายไป ชนิดที่ดีกว่าก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมเฉพาะนั้นๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มจำนวนนี่คือสิ่งที่เราเรียกว่าวิวัฒนาการ ชาร์ลส์ได้ เขียนผลงานชิ้นสำคัญของเขาเล่มแรกคือ"เดอะ ซูโอโลจี ออฟ เดอะ บีเกิล"มันได้รับ การต้อนรับเป็นอย่างดี ชาร์ลส์ไม่เร่งร้อนที่จะเปิดเผยความคิดของเขาเรื่องการกำเนิด ของชีวิต บางทีเขาอาจจะต้องการเวลามากกว่านี้สำหรับคิดเขากังวลอย่างมากในการที่ จะขัดแย้งกับความเห็นของศาสนาที่ทุกคนยอมรับ แต่นักธรรมชาติวิทยาอีกคนหนึ่งชื่อ วอลเลซ มีความเห็นเช่นเดียวกันกับดาร์วิน เขาเขียนจดหมายถึงดาร์วิน ในปี 1858 และส่งเอกสารเรื่องนี้ไปให้เขา เขาของร้องให้ดาร์วินช่วยส่งไปยังมหาวิทยาลัย ดาร์วินมีน้ำใจดีพอที่จะช่วยทำให้พร้อมกับเสริมไปว่า ดาร์วินเองก็มีความคิดเห็นเช่นเดียว กันแต่ยังไม่มั่นใจในการที่จะเปิดเผยต่อสาธารณชนเพราะว่าจะทำให้เกิดความโกลาหล เกิดขึ้นอย่างแน่นอนโชคดี นักธรรมชาติวิทยาที่เคมบริดจ์ทราบเรื่องผลงวานของดาร์วิน และชักชวนให้เขาเปิดเผยความคิดเห็น ดังนั้นเขาและวอลเลซจึงพิมพ์เอกสารขึ้นด้วยกัน หนึ่งปีต่อมาหนังสือที่มีชื่อเสียงของดาร์วินชื่อ"ออนดิออริจิน ออฟ สเปซี่ บายมีนส์ ออฟ เนเชอราล ซีเล็คชั้น"ก็ได้ปรากฏขึ้น และเหมือนดังที่ดาร์วินคาดคิดไว้ มันทำให้เกิดความ โกลาหล สิ่งที่ดาร์วินพูดถึงคือบอกว่า โลกนี้มิได้ถูกสร้างขึ้นภายในหนึ่งอาทิตย์ มันมีอายุ ยาวนานกว่านั้นมันได้เปลี่ยนแปลงไปในเวลานี้และยังเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สิ่งมีชีวิต ต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกันและผิดแผกแตกต่างออกไปจากที่ตอนเริ่มเกิดขึ้น ใหม่ๆ มนุษย์พัฒนาขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิตที่ธรรมดาที่สุด เรื่องราวของอดัมและอีฟในสวน อีเดนคงเป็นจริงไปไม่ได้ผู้คนคิดว่า ดาร์วินบอกว่าพวกเขาสืบเชื่อสายมาจากลิงเป็น ความคิดที่น่าละอายอย่างยิ่งหนังสือของดาร์วินถูกนำไปเผาทิ้งด้วยความโกรธและขยะ แขยงฝ่ายศาสนจักรพร้อมที่จะเผชิญกับดาร์วินในปี 1860 พวกเขาเรียกประชุมที่ อ๊อกซ์ฟอร์ด พวกพระและนักวิทยาศาสตร์พบกันที่นีนเพื่อถกเถียงกันถึงต้นกำเนิด ของสัตว์และต้นไม้สำหรับเรา การประชุมกันแบบนี้ฟังดูเป็นเรื่องหัวโบราณเหลือเกิน แต่ในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องจริงจังถึงแม้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าความคิด เห็นของดาร์วินถูกต้อง และเรื่องราวของอดัมกับอีฟเป็นแต่เพียงเรื่องเล่าฝ่ายศาสนจักร ยังคงมีอำนาจมากจนดาร์วินไม่เคยได้รับรางวัลเกียรติยศจากผลงานของเขาจากการ หมกมุ่นในการทำงานทำให้สุขภาพของเขาทรุดลแต่เขายังคงทำงานต่อไป "เมื่อข้าพ เจ้าต้องหยุดการสัเกต ข้าพเจ้าก็ตาย" เขาพูดในวันที่17 เมษายน 1882 เขายังคง ทำงานอยู่ และเสียชีวิตในอีกสองวันต่อมา
ผลงาน
-เป็นผู้การค้นพบการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม จนได้รับการขนานนามว่า "บิดาแห่งวิชาพันธุศาสตร์"
วิลเบอร์ ไรท์
ประวัติ
ออร์วิลและวิลเบอร์ ไรท์ เป็นบุตรของเสมียนในเมือง เล็กๆ ชื่อเดตันในรัฐโอไฮโอ วิลเบอร์ ไรท์ ผู้เป็นพี่ชายเกิดในปี1867 ส่วนออร์วิล คนน้องเกิดในปี 1871 ทั้งสองมีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับเรื่องการบินตั้งแต่ได้รับของขวัญเป็นเครื่องร่อนเล็กๆ ซึ่งสองคนพี่น้องนึกแปลกใจว่าเครื่องร่อนนั้นบินได้อย่างไร ต่อมาในปี 1895 หลังจากที่ทั้งคู่จบการศึกษาและร่วมกันเปิดร้านซ่อมจักรยานนั้น พี่น้องคู่นี้ได้อ่านบทความที่เขียนโดยนักสร้างเครื่องร่อนชาวเยอรมัน ชื่อ ออตโต ลิเลียนทาล บทความนี้ทำให้เขาประหลาดใจเหมือนเมื่อสมัยเขาทั้งสองเป็นเด็ก จึ่งตัดสินใจที่จะสร้างเครื่องยนต์ที่บินได้และบรรมทุกคนได้ด้วย หลังจากที่ทั้งสองพี่น้องได้ศึกษาและทดลองถึงการลอยตัวของว่าวและเครื่องร่อนจนรู้สาเหตุแล้วจึ่งได้สร้างเครื่องร่อนขนาดใหญ่พอที่จะบรรทุกคน ขึ้นไปได้หนึ่งคนเป็นครั้งแรกและให้ชื่อมันว่า คิตตี้ ฮอร์ก โดยทำการทดลองร่อนที่เนินเขาในรัฐคาโรไลนาเหนือที่มีลมแรง การทดลองประสบผลสำเร็จ ทั้งคู่จึงสร้างเครื่องร่อนขึ้นอีกหลายลำและเพิ่มระยะทางบินให้มากขึ้น ในปี ค.ศ. 1902 ทั้งคู่คิดค้นหาวิธีที่จะทำให้เครื่องร่อนบินได้ไกลและมีประสิทธิ ภาพขึ้น โดยคิดที่จะใส่เครื่องยนต์ให้กับเครื่องร่อนนั้น พอปลายปี 1903 เครื่องบินลำแรกของโลกก็ได้ถูกสร้างขึ้นโดยวิลเบอร์ และออร์วิล เอาเครื่อง ยนต์ขนาด 12 แรงม้า ใส่เข้ากับเครื่องร่อนคิตตี้ โอร์ค ซึ่งใช้หมุนใบพัด 2 ข้าง และตั้งชื่อให้มันว่า ฟลายเออร์ โดยวิลเบอร์เป็นผู้ทดลองขึ้นบินเป็น คนแรก ในการทดลองบินครั้งแรกนั้น ฟลายเออร์ยกตัวลอยขึ้นจากพื้นดิน หมุนไปรอบๆ แล้วตกลงพื้นดิน ต้องเสียเวลาซ่อม 2 วัน ทั้งคู่จึ่งทำการทด ลองต่อไปใหม่ โดยคราวนี้ออร์วิล เป็นผู้อยู่บนเครื่องเขาพยายามบินอีกครั้ง ฟลายเออร์ลอยขึ้นสูงจากพื้นดิน 3เมตร ใช้ความเร็ว 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบินไปได้ไกลถึง 36 เมตร พี้น้องตระกูลไรท์ได้ทำการทดลองบินอีกในเช้าวันต่อมาจนกระทั่งลมกรรโชกทำให้เครื่องพลิกคว่ำแล้วพังไป เขาจึงกลับไปทำงานที่ร้านจักรยานต่อ และทำการทดลองอีกครั้งในปี ค.ศ.1905 โดยสร้างเครื่องบินอีก 3 ลำ และทำการบินได้ครึ่งชั่วโมงในแต่ละครั้ง น่าประหลาดใจที่ไม่มีใครแสดงความสนใจในสิ่งที่พวกเขาทำมากนัก เพียงไม่กี่คนที่เฝ่ากูเขาทำการบิน ไม่มีแม้แต่การรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ คนทั่วไปไม่คิดว่าการบิน จะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ในปี ค.ศ.1908 เขาได้ทำการบินต่อหน้าสาธารณชน โดยมีผู้โดยสารขึ้นไปคนหนึ่งบินไปเกือนบครึ่งชั่วโมง และกลายเป็นผู้มีชื่อเสียง เขา ได้ทำการสาธิตการบินทั้งในยุโรปและอเมริกาใน ปี 1909 ทั้งคู่เป็นวีรยุรุษของปวงชนแทนที่จะเป็นช่างซ่อมจักรยานที่ไม่มีใครรู้จัก เขาได้ตั้งโรงงานผลิตเครื่อง บินและได้รับความสำเร็จในทันที ออร์วิลและวิลเบอร์ได้รับชัยชนะที่งดงามด้วยกัน จนกระทั่งปี ค.ศ.1912 วิลเบอร์เป็นไข้ไทฟอยด์และถึงแก่กรรม
ผลงาน
-ประดิษฐ์เครื่องบินลำแรกของโลก
แซมมวล มอร์ส
ประวัติวิลเฮล์ม คอนราด รีนต์เกิน
แซมมวล ฟินลีย์ บรีส มอร์ส ชาวอเมรีกัน เกิดในปี ค.ศ.1791 การคิดประดิษฐ์เครื่องส่งทรเลขของเขานั้นเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1832 ขณะเขาเดินทาง โดยเรือใบที่ชื่อซัลลีย์ และเฝ้าดูการทดลองง่ายๆ ของดร.แจคสัน ซึ่งโดยสารมาในเรือลำเดียวกัน โดยดร.แจคสัน เอาลวดพันรอบๆ แท่งเหล็ก แท่งหนึ่งและแสดงให้เห็นว่า เหล็กกลายเป็นแม่เหล็กเนื่องจากใช้ดูดตะปูได้ แต่เมื่อตัดกระแสออก เหล็กก็หมดความเป็นแม่เหล็กและตะปูก็จะร่วง ลงมา จากการทดลองเกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นนี้ ทำให้แซมมวล มอร์ส เกิดความคิดเกี่ยวกับการส่งรหัส โดยอาศัยแม่เหล็กไฟฟ้ามอร์สได้ประดิษฐ์ สวิทช์ไฟง่ายๆขึ้นจากแผ่นโลหะ สปริงทองเหลือง ตรงปลายมีปุ่มไม้สำหรับกด เมื่อกดปุ่มไม้ลงจะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านสวิทช์ แต่เมื่อเลิกกดปุ่ม สวิทช์จะเปิดกระแสไม่ไหล สมียนี้เราเรียกสวิทช์เช่นนี้ว่า "สะพานไฟของมอร์ส" ใช้ในการส่งกระแสเป็นเวลาสั้นๆ ยาวๆ ตามรหัส กระแสนี้ไหลผ่านสาย ลวดที่ขึงไว้ระหว่างเมืองกับเมืองหรือประเทศกัยประเทศไปยังแม่เหล็กไฟฟ้าเล็กๆ ซึ่งมีสปริงที่เรียกว่า "อาร์เมเจอร์" ต่ออยู่ ในขณะที่มีกระแสสั้นๆ หรือ "จุด" อาร์เมเจอร์จะถูกดูดด้วยแม่เหล็ก และดีดกลับเพราะสปริง ในขณะที่มีกระแสยาวๆ หรือ "ขีด" อาร์เมเจอร์จะถูกดูดนานหน่อยโดยใช้ออด ไฟฟ้าเราอาจได้ยินเสียงออดสั้นบ้าง ยาวบ้างสลับกันไปมอร์สเป็นผู้คิดระบบที่ใช้รหัสสั้นๆ ยาวๆ แทนอักษรต่างๆ เพื่อที่จะได้ส่งข้อความไปตามเส้น ลวดด้วยรหัสเช่นนี้ได้ ระบบเช่นนี้เรียกว่า "รหัสของมอร์ส"ซึ่งใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ แซมมวล มอร์ส ผู้ค้นพบสิ่งประดิษฐ์ซึ่งทรงคุณค่าและเป็น พื้นฐานความเจริญก้าวหน้าทางการสื่อสาร ได้ถึงแก่กรรมในปีคศ.1875
ผลงาน
-เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องรับส่งโทรเลขเป็นคนแรก -เป็นผู้คิดรหัสมอร์ส
ประวัติ
วิลเฮล์ม คอนราด รืนต์เกิน (wilhelm konrad roentgen) เกิดวันที่ 27 มีนาคม 1845 ที่เมืองเลนเนปในโรน์แลนด์ เป็นบุตรคนเดียวของนักอุตสาหกรรมและการค้าผ้า เขาได้รับการศึกษาครั้งแรกในฮอลแลนด์และในซูริค เขาศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และเป็น ศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์ในปี ค.ศ.1902 รืนต์เกิน ค้นพบรังสีเอ็กซ์โดยบังเอิญเมื่อวันที่8 พฤศ่จิกายน 1895 ขณะที่เขาทำการทดลองโดยเอากระดาษเข็งสีดำสนิทหุ้มหลอด แก้วไว้ไม่ให้แสงสว่างลอดเข้าออกได้ และส่งกระแสไฟฟ้าผ่าน ก๊าซต่างๆ ในหลอดแก้วพิเศษ ซึ่งถูกดูดเอาอากาศออก ในวันหนึ่ง รืนต์เกิน สังเกตว่าแม้หลอดจะถูกปกคลุมด้วยกระดาษสีดำ การแผ่รังสีบางอย่างสามารถจะส่องผ่านออกมาได้และทำให้ฉากที่วางอยู่ใกล้ สว่างขึ้น รืนต์เกินไม่สามารถมองเห็นว่ามีอะไรออกมาจากหลอด แต่เขาค้นพบว่าถ้าเขาวางฉากในห้องถัดไปซึ่งอยู่คนละด้านและปิดประตู รังสีก็ดูเหมือนจะมีผลต่อฉาก ดังนี้รังสีไม่เพียงแต่สามารถผ่านทะลุกระดาษ ดำเท่านั้นยังผ่านไม้ไปได้ด้วย สิ่งต่อมาที่เขาค้นพบคือถ้าเขาวางมือกั้น ระหว่างรังสีและแผ่นถ่ายภาพ รังสีจะบันทึกเงาของโครงกระดูกของ มือเขาบนแผ่นถ่ายภาพนั้น แสดงว่ารังสีนี้สามารถส่องผ่านเนื้อ ของเขาเช่นเดียวกับที่ส่องผ่านกระดาษดำ รืนต์เกินทดลองดูอีก ภายใน 2-3 นาทีก็หายสงสัย เขาจึงประกาศการค้นพบของเขาโดย ให้ชื่อแสงนี้ว่า"รังสีเอ็กซ์" ตั้งแต่รืนต์เกินพบรังสีเอ็กซ์มาจนถึงปัจจุบัน รังสีนี้ได้อำนวยประโยชน์ให้แก่มนุษย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในวงการแพทย์ ซึ่งค้นพบว่านอกจากรังสีเอ๊กซ์จะช่วยให้แพทย์ใช้ประโยชน์ในการตรวจดูความผิด ปกติของอวัยวะภายในของคนใข้แล้ว รังสีนี้อาจจะใช้ได้ผลในการบำบัด โรคมะเร็งและกำจัดความเติบโตผิดปกติของเซลบางจำพวกด้วยเหมือนกัน นอกจากวงการแพทย์แล้ว รังสีเอ๊กซ์ยังใช้ประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรม วิศวกรรม การสืบสวน และวงการวิทยาศาสตร์หลายสาขาด้วยกัน วิลเฮล์ม คอนราด รืนต์เกิน ผู้ค้นพบสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่าง มหาศาล ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1913 ด้วยโรคมะเร็ง
ผลงาน
-เป็นผู้ค้นพบรังสีเอ็กซ์ซึ่งนำมาใช้ในการเอ็กซ์เรย์ในปัจจุบัน
ไมเคิล ฟาราเดย์
ประวัติ
ไมเคิล ฟาราเดย์ เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี ค.ศ.1791 เป็นบุตรของช่างเหล็กชาวอังกฤษ เนื่องจากฐานะไม่สู้ดี เขาจึงได้รับการศึกษาน้อยยังไม่ทันเรียนสำเร็จก็ต้องออกจาก โรงเรียนกลางคัน และใช้ชีวิตอยู่ในสลัมแห่งหนึ่งไม่มีวี่แววว่าจะเติบโตขี้นเป็น นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงไปได้ เมื่อมีอายุได้ 13 ปี ไมเคิลก็ไปทำงานเป็นเด็กส่ง หนังสือพิมพ์ และทำงานเย็บปกหนังสือในร้านขายหนังสือด้วย จากการงานนี้ทำให้เขา มีใจรักหนังสือและหาโอกาสอ่านอยู่เสมอ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับวิชาไฟฟ้าที่เขา สนใจที่สุด และก็ลองทำการทดลองดูด้วยตนเอง และหาโอกาสไปฟังการบรรยายของ นักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เสมอ โดยเฉพาะการบรรยายของเซอร์ฮัมฟรีย์ เดวี ซึ่งเขาจะไป ฟังทุกครั้ง และส่งจดหมายแสดงความประสงค์ที่จะขอไปเป็นเด็กรับใช้ของเซอร์อัมฟรีย์ เซอร์อัมฟรีย์ เดวีย์ เห็นชายหนุ่มมีความสนใจอย่างแรงกล้า จึงรับเข้าทำงานเป็นคนล้าง เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในห้องเครื่องมือ ทำให้เขามีโอกาสศึกษาวิชาทางวิทยาศาสตร์จาก เซอร์อัมฟรีย์ จนเกิดความชำนาญจนได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยและติดตามท่านเซอร์ไปในการ เดินทางไปบรรยายทุกครั้ง ในปี 1821 ขณะที่ฟาราเดย์ได้ทำการทดลองเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้า เขาก็พบปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่กระแสไฟฟ้าเดินตามเส้นลวดแล้วทำให้เกิดอำนาจ แม่เหล็กรอบ ๆ เส้นลวดกระแสนี้เมื่อนำเอาเข็มแม่เหล็กไปวางไว้ใกล้กระแสนี้ก็จะหมุน ไปเรื่อยๆ ด้วยหลักอันนี้ ฟาราเดย์จึงทดลองประดิษฐ์ไดนาโมเล็กๆ ขึ้น อันเป็นต้นกำเนิด ของไดนาโมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไมเคิล ฟาราเดย์ ล้มป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมในบั้นปลาย ของชีวิต และถึงแก่กรรมเมื่อ ปี ค.ศ.1867 ที่แฮมป์ตันคอร์ท เมื่ออายุได้ 76 ปี
ผลงาน
-เป็นผู้ให้กำเนิดไดนาโมในปี ค.ศ.1821
ยอร์ช สตีเฟนสัน
ประวัติ
ยอร์ช สนีเฟนสัน เกิดเมื่อปี ค.ศ1781 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ บิดาของเขาทำงานในเหมืองถ่านหิน ทำหน้าที่ดูแลเครื่อง่จักรไอน้ำซึ่งสูบน้ำออก จากเหมือง ในวัยเด็กเขาไม่เคยได้ไปโรงเรียน ได้แต่ทำงานในไร่ถอนหัวผักกาด เมื่อโตเป็นหนุ่มเขาเริ่มให้ความสนใจและหลงไหลเครื่องสูบน้ำมาก และได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของบิดาเมื่ออายุได้ 14 ปี ในระหว่างน้นเขา ใช้เวลาว่างถอดเครื่องยนต์ของเครื่องจักรไอน้ำออกเป็นชิ้นๆ และศึกษาชิ้นส่วน เหล่านั้นและทำแบบจำลองขึ้น เขาเรียนการอ่านด้วยตนเองและจะอ่านทุกสิ่ง ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องเครื่องจักร จากผลงานการประดิษฐ์ของ ทรีวิธิค ทำให้สตีเฟนสันมีความตั้งใจที่จะออกแบบเครื่อง่จักรไอน้ำที่ใช้กับ รถไฟให้ดียิ่งขึ้น ให้มีขนาดเล็กลง ลดเสียงให้ดังน้อยลง และแล่นได้เร็วยิ่งขึ้น เมื่อมีอายุได้ 33 ปี เขาก็ผลิตยานพาหนะคันแรก โดยลดเสียางเครื่องยนต์ให้ค่อยลง โดยการต่อท่อนำไอน้ำจากลูกสูบของเครื่องไปยังกรวยและพบว่า ท่อและกรวยนี้ช่วยเพิ่มการดูดลมผ่านเตาเผาของเครื่องจักร ทำให้เครื่องจักรของเขา มีกำลังมากกว่าเครื่องจักรของทรีวิธิค และแล่นได้เร็วขึ้นคือราว 35 ไมล์ต่อชั่วโมงและได้รับ การยอมรับโดยเจ้าของเหมืองถ่านหินหลายรายตกลงใจที่จะใช้เครื่องจักร ของเขาในการขนส่งถ่านหิน สตีเฟนสันให้ชื่อรถไฟที่ใช้เครื่องจักรของเขาในการ ขนส่งถ่านหิน สตีเฟนสันให้ชิ่อรถไฟที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำของเขาว่า "ร๊อกเก็ต" ผลงานของสตีเฟนสัน ได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นและบุกเบิกเกี่ยวกับการ รถไฟเป็นครั้งแรก การริเริ่มของเขาได้รับการปรับปรุงและสานต่อจากวิศวกรรุ่นต่อๆมาให้รถไฟ มีประสิทธิภาพดีขึ้น แล่นได้เร็ขึ้นและทันสมัยยิ่งขึ้น จนทุกวันนี้ขบวนรถไฟด่วนสามารถแล่นได้รเร็วกว่า 125 ไมล์ต่อชั่วโมง ยอร์ช สนีเฟนสัน ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.1848
ผลงาน
-เป็นผู้คิดค้นและปรับปรุงเครื่องจักรไอนำสำหรับรถไฟจนใช้งานได้ดี
เบนจามิน แฟรงคลิน
ประวัติ
เบนจามิน แฟรงคลิน เกิดเมื่อวันที 17 มกราคม ปี ค.ศ.1706 ในประเทศอังกฤษ เขามีพี่น้องทั้งหมด 17 คน เขาเป็นคนที่ 15 บิดามีอาชีพเป็นคน ผลิตเทียนไขกับสบู่ ครอบครัวของเบนจามินได้ลี้ภัยทางศาสนา จากประเทศอังกฤษไปตั้งรกรากอยู่ในอเมริกาซึ่งขณะนั้นเป็นเมือง อาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่เขายังอายุน้อย บิดาของเบนจามินได้ส่งเขา เข้าเรียนในโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้าน แต่ผลการเรียนไม่ค่อยดีนักเพราะ อ่อนคำนวณ บิดาจึงให้ออกจาก โรงเรียนมาช่วยงานทางบ้าน ซึ่งเบนจามินไม่ค่อยชอบงานด้านนี้นัก เพราะชอบงานทางด้านหนังสือ บิดาจึงส่งไปอยู่ดกับพี่ชายที่เมืองบอสตันซึ่งมี กิจการโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง เบนจามิน แฟรงคลิน เริ่มฝึกงานช่างพิมพ์ ด้วยเหตุว่าเขาสนใจงานด้านนี้มาก่อน จึงตั้งอกตั้งใจประกอบกับสนใจ ทางด้านหนังสือ จึงฝึกเขียนบทความลงในหนังสือโดยสอดไว้ในกองต้นฉบับ โดยไม่บอกให้พี่ชายทราบ เจมส์ซึ่งเป็นพี่ชายเมื่ออ่านดูก็ชอบใจและ นำพิมพ์ออกสู่ท้องตลาดโดยไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของใคร ข้อเขียนนั้นได้รับ ความนิยมอย่างสูง จนมีการลงพิมพ์ผลงานอื่นๆ อีกหลายชิ้น แต่พอความจริง เปิดเผย ออกมา เจมส์กลับโกรธมาก และไม่ยอมลงเรื่องที่เบนจามินเขียนอีกเลย เมื่อขัดใจกับพี่ชาย เบนจามิน แฟรงคลินจึงลาออกจากงานเดินทางไป เมืองฟิลาเดลเฟียเพื่อทำงานด้านการ พิมพ์ของตัวเองขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันเขาก็เริ่มสนใจเกี่ยวกับไฟฟ้า โดยเฉพาะ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติคือฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าซึ่งในสมัย นั้นยังไม่มีใครให้คำตอบที่ถูกต้องได้ ปี ค.ศ.1752 เบนจามิน จึงเริ่มค้นหา ความจริง เกี่ยวกับไฟฟ้าในอากาศ โดยใช้วิธีชักว่าวขึ้นไปบนท้องฟ้า เวลาฝนตกซึ่งเป็นการทำที่เสี่ยงอันตรายมาก ว่าวของเขาทำจากผ้าแพร ปิดบนโครง มีเหล็กแหลมติดที่ตัวว่าว ปลายสายผูกลูกกุญแจทองเหลืองและ ใช้ริบบิ้นผูกกับสายว่าวอีกทีหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่จับ พอฝนเริ่มตั้งเค้าเขาก็เริ่ม ส่งว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า พอโดนฝนสายเชื่อกที่ชักว่าวก็เปียกโชก มันจึ่งกลายเป็น ตัวนำไฟฟ้าที่ดีและไฟฟ้าในกลุ่มเมฆก็เคลื่อนที่จากตัวว่าวมาสู่ลูกกุญแจทาง สายป่าน เบนจามินทราบดีว่าริบบิ้นเป็นฉนวนป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าไหลผ่านเข้าสู่ตัวเขา ดังนั้นเขาจึงไม่ได้รับอันตรายจากการทดลองครั้งนี้ เบนจามินทำการทดลองต่อไป โดยเอาเศษหญ้าจ่อชิดลูกกุญแจ ก็เกิดประกายไฟจากลูกกุญแจมาสู่มือ ของเขา และเมื่อเขาลองเอากุญแจหย่อนลงเกือบถึงพื้นดิน ก็เกิดประกายไฟฟ้า ระหว่างพื้นดินกับลูกกุญแจอีก เขาจึงลงความเห็นว่าไฟฟ้าที่มีอยู่ในอากาศ นั้นเองเป็นตัวการทำให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า การจะป้องกันอันตราย ที่จะเกิดจากการถูกฟ้าผ่าก็คือการระบายประจุออกจากไฟฟ้าที่มีสะสมอยู่ ในก้อนเมฆในอากาศให้น้อยลง ซึ่งจะทำได้ก็โดยการใช้โลหะปลายแหลมและ สายไฟฟ้าที่เป็นสื่อไฟฟ้าตั้งไว้ในที่สูงแล้วต่อมายังพื้นดิน และฝังส่วนปลายที่ จ่อลงดิน ไว้กับแผ่นโลหะขนาดใหญ่ให้ลึกเพื่อเป็นการระบายประจุไฟ้า แต่ต้องไม่ให้สาย ที่ต่อนั้นโค้งงอจนเป็นมุมฉากเพราะอาจเกิดการลัดวงจรได้ ซึ่ง อุปกรณ์ชนิดนี้เองซึ่งเรียกกันว่า "สายล่อฟ้า" นอกจากการคิดประดิษฐ์สายล่อฟ้า แล้ว เบนจามิน แฟรงคลิน ยังมีความรอบรู้เกี่ยวกับการเกษตร โดย เป็นคนแรกที่แนะให้เกษตรกรแก้ความเป็นกรดของดินโดยการโรยปูนขาว ซึ่งนับเป็นประโยชน์ในการเกษตรกรรมเป็นอันมาก จากการเป็นนักคิด นักประดิษฐ์นี่เอง ทำให้เบนจามินได้รับการยกย่อง และได้รับเกียรติจากราชสมาคมอังกฤษให้เข้าเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งการเข้าเป็น สมาชิกของราชสมาคมอังกฤษในสมัยนั้นนับว่ายากที่สุด และส่งที่น่าสรรเสริญ เกี่ยวกับตัวเขาอีกอย่างหนึ่งนั้นคือผลงานและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ของ เขานั้น ไม่เคยนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์เลย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อื่นมีสิทธิ์ที่จะประดิษฐ์ สิ่งนั้นขึ้นใช้ได้ นอกจากจะไม่หวงในผลงานแล้ว เขากลับส่งเสิรมและแนะนำ บุคคลอื่นๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เขารู้อีกด้วย นับว่าเขาเป็นคนที่น่ายกย่อง สรรเสริญที่สุดคนหนึ่ง เมื่ออเมริกาได้รับอิสรภาพ เบนจามิน มฟรงคลินก็ได้รับการติดต่อให้เข้ารับตำแหน่งหน้าที่อันใหญ่โตผู้หนึ่งใน คณะผู้บริหาร แต่เขาก็ตอบปฏิเสธไปโดยเห็นว่าตัวเองอายุมากแล้ว และอยาก จะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบกับงานเขียนและงานพิมพ์ที่เขาชื่นชอบ เบนจามิน แฟรงคลินถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ1790 ขณะมีอายุได้84 ปี
ผลงาน
-เป็นผู้ประดิษฐ์สายล่อฟ้า -เป็นผู้คิดวิธีการลดกรดของดินโดยการโรยปูนขาว
เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวีย์
ประวัติ
เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวีย์ เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1778 ที่เมืองคอร์นวอล ประเทศอังกฤษ หลังจากจบการศึกษาแล้วเขาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของอยุรแพทย์คนหนึ่ง ในสมัยนั้นการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้านัก โดยเฉพาะการผ่าตัด ในโรงพยาบาลยังไม่มียาใดที่จะระงับความเจ็บปวดของคนใข้ในขณะผ่าตัด ฮัมฟรีย์ เดวีย์จึ่งพยายามคิดค้นหาวิธีระงับความเจ็บปวดและเขาก็ได้ ค้นพบก๊าซชนิดหนึ่ง (คือไนตรัสออกไซด์) โดยการสูดเข้าไปโดยบังเอิญ และค้นพบว่าก๊าซนี้ทำให้เขาหมดสติไปชั่วขณะและพอตื่นขึ้นมาก็ไม่ได้ รับอันตรายแต่อย่างใดและยังรู้สึกสดชื่นอีกด้วย เขาจึงเรียกมันว่า "ก๊าซหัวเราะ" ซึ่งในเวลาต่อมาได้นำมาใช้เป็นยาสลบ นอกจากนั้นเขา ก็ทดลองสูดก๊าซชนิดต่างๆ เข้าไปจนเกิดอาการป่วยจึ่งต้องระงับ การทดลอง ชั่วคราว นอกจากการค้นพบก๊าซหัวเราะแล้ว เขายังเป็นคนแรกที่แยก องค์ประกอบของน้ำได้เป็นผลสำเร็จโดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ผ่าน เข้าไป ในน้ำ และแยกน้ำออกเป็นก๊าซได้ 2 อย่างคืออ๊อกซิเจนกับไฮโดรเจน เขาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกกรรมวิธีสมัยใหม่ในการใช้ไฟฟ้า ในการทดลองทางเคมีเป็น คนแรก และในปี พ.ศ 2358 ฮัมฟรีย์ เดวีย์ก็ได้ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัย เพื่อใช้ในกิจการเหมืองเป็นครั้งแรก ซึ่งสิ่งประษฐ์ชิ้นสำคัญนี้เองที่ทำให้ ชื่อเสียงของเขาเป็นที่จด จำไปทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่ชาวหมืองถ่านหินเพราะในสมัยนั้นการ ขุดเหมืองถ่านหินนับเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งเพราะลึกลงไป ในเหมืองนั้นจะมีก๊าซ ชนิดหนึ่งที่ชาวเหมืองเรียกว่า "ไฟอับ" แฝงอยู่ และมักจะเกิด ระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อโดนกับเปลวไปจากตะเกียงน้ำมันที่คน งานใช้อยู่จากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นหลาย ครั้งนี้เอง ทำให้เจ้าของบ่อถ่านหินพากันร้องทุกข์ต่อฮัมฟรีย์ เดวีย์นักวิทยาศาสตร์ ผู้ยิ่งยงในสมัยนั้น ฮัมย์ฟรีย์ เดวีย์จึงเดินทางไปที่เมืองนิวคาสเซิล และค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถป้องกันไม่ให้เปลวไฟจากตะเกียงน้ำมัน แลบไปถึงไฟอับในเหมืองได้ ในที่สุดก็ออกแบบโคมไฟป้องกันอันตราย ขึ้นแบบหยึ่ง ซึ่งให้แสง สว่างและมีตะแกรงลวดเส้นบางๆ ซึ่งจะขัดขวางและป้องกันเปลวไฟมิให้ แลบไปถึงไฟอับในเหมือง แลแม้ว่าก๊าซจะถึงเปลวไฟทางตะแกรง แต่พื้นผิวที่เย็นของตะแกรงจะป้องกันความร้อนของเปลวไฟมิให้ แลบไปถึงก๊าซข้างนอกได้ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางอุตสาหกรรมถ่านหิน เป็นอันมาก และจากงาน ทางด้านไฟฟ้าเคมีและการค้นพบธาตุต่างๆ เป็นจำนวนมาก ได้ทำให้เขา มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนาง (เซอร์) ในปี 1892 เซอร์ ฮัมฟรีย์ เดวีย์ถึงแก่กรรมที่เมืองเจนีวา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ1829 เมื่อมีอายุได้ 51 ปี
ผลงาน
-เป็นผู้พบยาสลบที่ใช้ในทางการแพทย์ -เป็นผู้ประดิษฐ์ตะเกียงเจ้าพายุ ( ตะเกียงสำหรับให้แสงสว่าง สำหรับการขุดแร่ในอุโมงค์ )
 
จอห์น เบียร์ด
ประวัติ
จอห์น โลกี้ เบียร์ด เกิดในปีค.ศ.1888 เป็นบุตรชายของเสมียนที่เข้มงวด ในวัยเด็กเขามักจะเจ็บป่วยเสมอ และไม่ชอบไปโรงเรียนแต่กลับชอบประดิษฐ์ สิ่งต่างๆอาทิเช่นเครื่องร่อนที่ทำให้เขาบาดเจ็บเพราะตกจากหลังคาบ้านหลัง จากเรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้าจากกลาสโกว์แล้วก็เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยวิศวกร อยู่พักหนึ่ง ก็ต้องออกจากงานเพราะหยุดงานบ่อยครั่งเนื่องจากอาการป่วย จึงทำการหาเลี้ยงชีพโดยวิธีอื่น อาทิเช่นทำของขาย เช่น แยม และสบู่ แต่ก็ ประสบความล้มเหลว แรงบันดาลใจให้จอห์น เบียร์ด คิดสร้างโทรทัศน์ ก็เนื่องจากการที่กูกิเอลโม มาร์โคนีได้ประดิษฐ์เครื่องสัญญาณและรับสัญญาณ วิทยุทางไกลเป็นผลสำเร็จ ความคิดนี้ทำให้เบียร์ด จินตนาการถึงการส่งภาพ ด้วยคลื่น วิทยุขึ้นมาบ้างนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้ค้นพบว่าเมื่อแสงตกลงบนวัตถุ ที่ไวต่อแสงที่เรียกว่า ซีเลเนี่ยม จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น ถ้าแสงสว่างมาก ขึ้นกระแสไฟฟ้าก็แรงขึ้นด้วย ภาพถ่ายที่ดีมักจะมีบริเวณสว่างและเงาที่มี ความเข้มต่างๆ กัน ดังนั้นถ้านำภาพถ่ายมาวางใกล้แผ่นซีเลเนียมและลำแสง ส่องไปยังภาพถ่ายและเคลื่อนที่ไปทั่วๆ ภาพ ส่วนสว่างและมืดของภาพจะทำให้ เกิดกระแสไฟฟ้ากำลังต่างๆ กันจากแผ่นซีเลเนียมวิธีการนี้เรียกว่า กวาดภาพจากนั้นกระแสไฟฟ้าจะป้อนไปยังเครื่องแปลงสัญญาณจับสัญญาณ เหล่านี้แล้วเปลี่ยนให้เป็นแสงอีก ทำให้เกิดภาพเดิมขึ้นอีก วิธีนี้เป็นการ ผลิตภาพนิ่งซึ่งเป็นวิธีที่หนังสือพิมพ์ได้รับภาพข่าวจากทั่วโลก แต่สำหรับ โทรทัศน์ภาพต้องมีการเคลื่อนไหว เราได้อ่านวิธีการทำให้เห็นภาพเคลื่อนไหว ในภาพยนตร์ที่ฉายบนจอโดยการฉายภาพหลายๆ ภาพติดต่อกันให้มีความเร็ว พอที่ตามนุษย์จะมองไม่เห็นรอยต่อระหว่างภาพทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นภาพที่ต่อเนื่องในโทรทัศน์ก็ใช้วิธีการเดียวกันนั้น แต่มีปัญหาที่ว่าต้อง กวาดภาพไป และเปลี่ยนให้เป็นกระแสไฟฟ้าเปลี่ยนสัญญาณและเปลี่ยนกลับ เป็นภาพซึ่งต้องทำให้ได้ 20 ภาพต่อวินาที เพื่อให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวนั้น ต่อเนื่องกัน เบียร์ดทำงานในห้องนอน เขาสร้างเครื่องโทรทัศน์เป็นเครื่อง แรกในปีค.ศ.1925 และกวาดภาพด้วยจานใบหนึ่งซึ่งเขาเจาะรูหลายๆ รูแล้ว หมุนจานอย่างเร็วบนแกนซึ่งใช้เข็มถักไหมพรม เขาฉายแสงไปบนจานที่ หมุนทำให้ส่องภาพไปตามลำดับและเปลี่ยนแสงเล่านั้น ให้เป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะถูกเปลี่ยนกลับให้เป็นภาพในเครื่องรับสัญญาณว่างอยู่ห่างจาก เครื่องส่งเพียง 1 เมตรกว่า หลังจากการทำงานนี้ไม่นานเขาก็เดินทาง ไปร้านเซลฟริดจ์ในลอนดอนแล้วสาธิตให้เจ้าของชม ในปีค.ศ.1925 เจ้าของร้าน ทำสัญญาจ้างให้เขาออกโทรทัศน์วันละ 3 รายการในร้านภาพที่เห็นไม่ชัดนัก แต่เครื่งก็ทำงานได้ และประขาสชนให้ความสนใจ ในปีต่อมาเขาสาธิตให้ หนังสือพิมพ์ชม จากนั้นเขาไปยัง บีบีซี และถึงแม้ว่าภาพของเขาจะไม่ ชัดเจนแต่บีบีซีก็ให้กำลังใจสนับสนุน ในปีค.ศ.1929 มีรายการโทรทัศน์ของบีบีซีส่งออกอากาศ และเริ่มถ่ายทอด การแสดงละครทางโทรทัศน์ในปีต่อมาได้มีการถ่ายทอดการแข่ง ม้าเดอร์บี้ทางโทรทัศน์ในกรุงลอนดอน จอห์น เบียร์ด ถึงแก่กรรมด้วย โรคไข้หวัดใหญ่ขณะที่เขากำลังคิดและพัฒนาในการส่งภาพเป็นสีในปีค.ศ.1946
ผลงาน
-เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องรับโทรทัศน์เครื่องแรกของโลก
เซอร์ ไอแซค นิวตัน
ประวัติ
เซอร์ไอแซค นิวตันเกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 1642 ที่ลินคอล์นเชียร์ อังกฤษมในสมัยที่เป็นเด็กไม่ค่อยสนใจในการเรียนนัก ชอบทางด้านเครื่องจักร เครื่องกล แต่พออายุได้ 15 ปี เขากลับเอาใจใส่การศึกษามากขึ้น พอบิดาของเขาถึงแก่กรรมลง มารดาก็ตั้งใจจะให้เขาทำงานในฟาร์มเหมือนบิดา แต่เขาไม่ชอบ นิวตันเป็นคนไม่ชอบเพื่อน ฉะนั้นเขาจึงมีเวลามากพอที่จะหมกมุ่นอยู่กับตำราเป็นส่วนใหญ่ เขาเริ่มคิดประดิษฐ์สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้น เป็นต้นว่า โรงสีลมเล็กๆ ซึ่งใช้กำลังงานกระแสลมทำให้เครื่องจักรหมุน และสร้างนาฬิกาน้ำโดยให้หยดลงมาในถังแล้วสังเกตระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นมา พอนิวตันจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อ ปี 1665 เขาก็ทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยนี้พอเกิด โรคระบาด มหาวิทยาลัยปิดชั่วคราว นิวตันจึงกลับไปทำงานส่วนตัวที่บ้าน ในช่วงเวลานั้นเป็นระยะที่เขาได้ความคิดเกี่ยวกับงานสำคัญของเขาในเวลา ต่อมาหลายเรื่อง เมื่อเขาทำงานเงียบๆ ด้วยตัวเอง คิดถึงสิ่งต่างๆ ที่เขาได้สังเกตและสามารถเห็นเหตุผลที่ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งคนอื่นมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาเช่น การสัเกตการหล่นของผลแอปเปิ้ล ที่ให้เขาได้ความคิดเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นแรงดึงดูดทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกและเป็นแรงที่ทำให้ โลก ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ และต่างๆ อยู่ในระบบสุริยะ คนที่ไปมองเห็นสีของรุ้งกินน้ำในท้องฟ้า แต่นิวตันรู้และสามารถพิสูจน์ได้ว่า แสงที่เราเห็นว่า ไม่มีสีหรือที่เรียกว่ามีสีขาวเกิดจากสีรุ้งนั่นเอง นิวตันเป็นคนที่อ่อนไหว เขาไม่ชอบการขัดแย้งกัน และมักจะโกรธต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เขาไม่ได้ตี พิมพ์เรื่องแรงโน้มถ่วงเป็นเวลาหลายปี ในระหว่างนั้นเขาได้ศึกษาวิธีที่สร้างกล้องโทรทรรศน์ และเมื่อเขากลับไปเคมบริดจ์ เขาได้สร้างกล้องโทรทรรศน์แบบใหม่ แบบมีตัวสะท้อนแสง แล้วกล้องโทรทรรศน์นี้ ทำให้เขามีชื่อเสียงและได้รับเชิญให้เข้าร่วมในราชสมาคมชั้นนำของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศอังกฤษ แต่โรเบิร์ต ฮุค ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสมาคมได้วิจารณ์ความคิดของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติของแสง นิวตันและฮุคจึงไม่เคยเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันอีกเลย นิวตันยังมีความสนใจในสิ่งนอกเหนือไปจากวิทยาศาสตร์ เขาได้เป็นสมาชิกรัฐสภาในช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นในปี 1699 เขาก็ได้เป็นหัวหน้ากองกษาปณ์ของราชสำนัก ซึ่งผลิดเหรียญที่ใช้กันในประเทศถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ แต่เขาก็มีความคิด บางอย่างที่แปลกประหลาด เช่น เขาเชื่อในเรื่องโหราศาสคร์ เชื่อในทฤษฏีที่ดวงดาวมีอิทธิพลต่อโชคชะตาของคน เขาได้ศึกษาเกี่ยวกับการเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งเชื่อกันว่าจะสามารถเปลี่ยนโลหะเช่น ทองแดงให้เป็นทองได้ ในสมัยของนิวตัน ผู้คนมีเชื่อกันเช่นนี้มาก ซึ่ง ในปัจจุบันเราทราบว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไอแซค นิวตัน เป็นบุคคลที่มุ่งทำประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าชีวิตของตนเอง เขามีความสุขอยู่กับการทดลอง วิทยาศาสตร์และการคำนวณภายในห้องทดลองของเขายิ่งกว่าอื่นใด เขาได้รับพระราชทานบรารดาศักดิ์เป็นท่าน " เซอร์"เมื่อมีอายุร่วม 60 ปีแล้วเซอร์ ไอแซคนิวตัน ถึ่งแก่กรรมเมื่ออายุได้ 84 ปี และถูกฝังในสุสานวิหารเวสมินสเตอร์ ซึ่งในปัจุบันนี้มีอนุสาวรีย์ของเขาตั้งอ่ยู่ แม้ว่ามทุกคนจะระลึกถึงเขาว่าเป็น บุคคลสำคัญคนหนี่ง แต่ตัวเขาเคยพูดว่า ฉันมองได้ไกลกว่าคนส่วนใหญ่ก็เพราะฉันยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์
ผลงาน
-เป็นผู้พบแรงดึงดูดของโลก -เป็นผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง