วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โรงงานไฟฟ้าเคมี



นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวในเวทีเสวนา พลังงานนิวเคลียร์ : ความคุ้มค่าการลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต โดยสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) ว่า ความเสี่ยงของการใช้ เชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ากว่า ร้อยละ 78 เป็นก๊าซธรรมชาติ รวมถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศต้องหาพลังงานทางเลือกใหม่ที่จะเข้ามาเสริมระบบ ในขณะเดียวกันต้องลดหรือไม่ปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ ต้องการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อลดความเสี่ยง ลดภาวะโลกร้อน และต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น
            แม้ว่าการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะแพงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 1 เท่า มูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 160,000 ล้านบาท แต่ระยะยาวตลอดอายุโครงการที่ 40 - 60 ปี ถือว่าต้นทุนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังถือว่าต่ำที่สุด นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงเพราะแร่ยูเรเนียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงใช้ได้ค่อนข้างนาน และที่สำคัญยังช่วยลดการผันผวนของราคาน้ำมัน และเรายังสามารถนำก๊าซธรรมชาติไปเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอื่นๆ แทนที่จะไปเผาทิ้งในโรงไฟฟ้า
            ในส่วนของการประมาณการต้นทุนค่าไฟฟ้านั้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ จะมีต้นทุนอยู่ที่ 2.45 บาท/หน่วย ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน เทียบที่กำลังผลิตติดตั้ง 700 เมกะวัตต์ จะมีต้นทุนอยู่ที่ 2.69 บาท/หน่วย หรือแม้แต่การเปรียบเทียบการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง 1 กิโลกรัมนั้น ยูเรนียมเข้มข้น ร้อยละ 3 - 4 นั้นจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 300,000 หน่วย ในขณะที่ถ่านหินจะผลิตได้เพียง 3 หน่วยเท่านั้น
ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น