วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

คณะวิทยาศาสตร์ เคมี เรียนอะไร ทำงานอะไร

- ตอนนี้กำลังเรียนคณะอะไร สาขาอะไรอยู่?
คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ฮับผม

- สาขาที่เรียน เรียนยังไง เรียนอะไรบ้าง?
เรียนยากมากก อ๊ะ ไม่สิ นี่ไม่ใช่ประเด็น
คือ วิทยาศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่หาความจริงของธรรมชาติฮับ
ดังนั้น จะต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีให้เกิดความเข้าใจพร้อมกับเรียนภาคปฏิบัติให้เกิดความชัดเจน
จึงอาจกล่าวได้ว่า มีการเรียนแบบเลคเชอร์(กลุ่มใหญ่เล็กแล้วแต่วิชา) ผสมกับการเรียนแลบฮับ

เฉพาะสาขาของเคมี แบ่งได้ 4.5 สาขาฮับ คือ
analytical chemistry - เคมีวิเคราะห์ = เป็นสายตรวจวัด ตรวจจับ หาวิธีวิเคราะห์จำนวนสารเคมีอะไรแบบนั้นฮับ
organic chemistry - เคมีอินทรีย์ = เรียนสารประกอบไฮโดรคาร์บอน(คนโบราณเค้าถือว่าเป็นสารที่พบในสิ่งมีชีวิตเท่านั้น ศาสตร์นี้เลยเรียกว่าเคมีอินทรีย์) อย่างลึกซึ้งเลยฮับ
inorganic chemistry - เคมีอนินทรีย์ = เรียนสิ่งที่เคมีอินทรีย์ไม่สนใจ ...ฟังดูกวนอวัยวะเบื้องล่างชะมัด
physical chemistry - เคมีฟิสิกส์ = ...อันนี้เค้าเรียนอะไรกัน ข้าน้อยก็ไม่เข้าใจฮับ 5555 แต่เป็นสาขาที่เอาฟิสิกส์ กับ เคมี มาเรียนผสมกัน ลึกซึ้งยิ่งนักฮับ
biochemistry - ชีวเคมี = อันนี้ก็เรียนสารเคมีในกระบวนการต่างๆของสิ่งมีชีวิตฮับ แต่เนื่องจากมันเป็นครึ่งทางระหว่างชีววิทยา กับ เคมี ปัจจุบัน ทางคณะจึงแยกสาขานี้ไปเรียนต่างหาก ไม่รวมกับเคมีอีกต่อไปฮับผม

...อย่างไรก็ตาม ในระดับปริญญาตรี เด็กเคมีต้องเรียนหมดทั้ง 4 สาขาเลยฮับ มาเป็น package สยองขวัญเลยทีเดียว แล้วค่อยรอตอนเรียนในระดับปริญญาโท - เอก ค่อยทำการแยกสาขาที่เรียนอย่างชัดเจนฮับผม

หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วเรียน 4 สาขานี่ ไม่ตายเลยเร้อะ เรียนเคมี ม.ปลายก็จุกจะแย่อยู่แล้ว
เรื่องนั้น ทางคณะเลยมีการจัดตารางเรียนมาแบบนี้ฮับ


ปี 1 เรียนวิชาปูพื้นฐานของคณะฮับอันได้แก่

เลคเชอร์ : แคลคูลัส ภาค 1 และ 2 ฟิสิกส์พื้นฐาน ภาค 1 และ 2 เคมีพื้นฐาน ภาค 1 และ 2 ชีววิทยาพื้นฐาน ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ภาค 1 และ 2

แลบ : แลบฟิสิกส์ ภาค 1 และ 2 แลบเคมี ภาค 1 และ 2 แลบชีววิทยา ...ซึ่งจะเรียนควบไปกับวิชาเลคเชอร์ฮับผม

ปีแรกนี่ รายละเอียดมีไม่เยอะฮับ เป็นการเอา ม.ปลาย มาเล่าใหม่อีกครั้งแบบรวบรัด (และอาจรัดคอถึงตายได้) แอดมิชชัน หนที่ 2 ชัดๆฮับ ปีนี้


ปี 2 เรียนวิชาใหม่ๆทางเคมีกันบ้างฮับ เป็นการปูพื้นพร้อมๆกับเปิดโลกให้เห็นเคมีแบบกว้างๆ
อันได้แก่เลคเชอร์ :
เคมีอินทรีย์ ภาค 1 และ 2
- ผสมความรู้จากเคมีพื้นฐานเข้ามาให้เกิดความเข้าใจกับไฮโดรคาร์บอนฮับ เรียนวิชานี้จบไป น่าจะไปเรียนต่อที่เส้าหลินได้ เพราะจะเชี่ยวชาญใน 108 กระบวนท่าปฏิกิริยาเคมี ไม่ว่าจะเป็น แอลกอฮอล์ เอมีน เอไมด์ กรดคาร์บอกซิลิก อ๊ะ เอ๊ะ มีใครเริ่มน้ำลายฟูมปากไปรึยังฮับ? ขออภัยด้วย คนมันอัดอั้นตันใจฮับ T^T ...จัดเป็นวิชาสายท่องจำขนานใหญ่เลยล่ะฮับ
เคมีฟิสิกส์ ภาค 1 และ 2 - ...อ่า... ใครเก่งเคมีเจอฟิสิกส์เชือด ใครถนัดฟิสิกส์โดนเคมีฆ่า ใครพอไปวัดไปวาทั้งสองอย่าง ก็จะได้ไปวัดจริงๆ (เพราะมันรวมพลังกันแล้วยากขึ้นมากมาย) เหลือแต่เทพและปีศาจเท่านั้นที่เรียนแล้วรู้เรื่องฮับ (แต่วิชานี้ ถ้าสอบกลางภาคยากมากๆ สอบปลายภาคจะง่ายฮับ นับว่าเป็นความเมตตายิ่งยวดของท่านอ.)
เคมีวิเคราะห์ ภาค 1 และ 2 - เป็นวิชาที่เข้าใจได้ง่าย แต่คำนวณได้ยากฮับ จากโจทย์หนึ่งข้อ สามารถทำให้เรากดเครื่องคิดเลขแล้วก็ยังไม่ทันได้ด้วยล่ะ โดยจะเริ่มเน้นทาง สถิติกับเคมี เคมีไฟฟ้า กรดเบสและการไทเทรต เคมีกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ประมาณนี้ล่ะฮับ ...สมัยข้าน้อยเรียน วิชานี้ทำลายสถิติโลกด้วยการแจกข้อสอบ 26 หน้าด้วยล่ะฮับ อ่อ เวลาสอบ 3 ชม.นะฮับ ไม่ใช่หนึ่งวันเต็มๆ... อุเหม่ อ.ท่านช่างขี้เล่นได้อีก
เคมีอนินทรีย์ ภาค 1 - วิชาลูกเมียน้อยฮับ เริ่มเรียนเทอมสอง เป็นสายวิชาที่เปิดตัวมาได้น่ากลัว เพราะสนใจสมมาตรกับภาพสามมิติ ทำเอาเด็กวิทยาที่อ่อนด๋อยเรื่องศิลปะชักแหง็กๆได้ฮับ
คณิตศาสตร์สำหรับนักเคมี - เป็นวิชาเลขที่เกิดมาเพื่อ(ฆ่า)เด็กเคมีโดยเฉพาะฮับ เกิดจากการที่เคมีบางสาขาต้องใช้คณิตศาสตร์ลึกซึ้งมากๆ เลยต้องมีการประยุกต์ แคลคูลัส 3, 4 และ ระดับสูง คัดกรองออกมาให้เหลือเฉพาะเรื่องที่เด็กเคมีควรรู้ แล้วเอามาสอนกันฮับ
ความปลอดภัยกับเคมี - เป็นวิชาที่เรียนชิลๆฮับ แต่ใช้ประโยชน์จริงได้เยอะ เป็นการเตือนภัยว่า สารเคมีมันอันตรายนะเออ อย่าทำเล่นๆไป มีตั้งแต่สอนดูฉลากสารเคมี ไปจนถึงการแต่งกายเพื่อเข้าห้องแลบอย่างปลอดภัยฮับ
การเขียนโปรแกรมพื้นฐาน และ ภาษาอังกฤษตัวแม่ - วิชาบังคับของคณะฮับ เพิ่มเติมขึ้นมา เนื่องจากอัดในปี 1 ทีเดียวไม่ไหวฮับแลบ :
แลบเคมีอินทรีย์ ภาค 1 และ 2
- หลอกหลอนมาพร้อมๆกับวิชาเลคเชอร์ฮับ เป็นวิชาที่สารเคมีกลิ่นแรงจนทำให้ข้าน้อยกลัวกลิ่นแอลกอฮอล์ไปตลอดชีวิต และยังต้องทำรายงานอย่างหนาด้วยฮับ ฝึกความอึดกันสุดๆไปเลย
แลบเคมีวิเคราะห์ ภาค 1 - โผล่มาเทอมสองฮับ รอจนน้องๆผ่านเทอม 1 ที่น้องๆมักจะถือว่าหนักแล้ว ให้หนักขึ้นไปอีกระดับนึง มีข่าวลือๆอยู่เหมือนกันฮับว่า ภาควิชาคงอยากฝึกเด็กให้อึดจนแข่งยกน้ำหนักเหรียญทองไหว ...อ่า แลบตัวนี้ ทำง่าย แต่รายละเอียดเยอะมาก ฝึกฝีมือในการใช้อุปกรณ์และความละเอียดแบบสุดฤทธิ์ฮับ
- สาขาที่เรียนเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง?
ถามกลับดีกว่า มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่ใช่สารเคมีบ้างล่ะฮับ เอิ๊กๆๆๆ
ก็ ถ้านำไปใช้ตรงๆเลย คงเป็นนักวิชาการ กับ นักวิจัยอ่ะฮับ
ประยุกต์สักนิดนึง จะเข้าทางสายโรงงานและนักพัฒนาทันทีฮับ เพราะตั้งแต่ ยา กระดาษ สี ปูน ยาง ฯลฯ นักเคมีเราทำได้หมดฮับ
ประยุกต์มากกว่านั้นไปอีก คือ เอา"ความมีเหตุผล"ของนักวิทยาศาสตร์ไปใช้ฮับ อันนี้ใช้ทำอะไรก็ได้เลยล่ะฮับ ยกเว้นเอาไปสู่ขอคู่ครอง :P

- บอกเคล็ดลับการเรียนในสาขานี้อย่างคนมีกึ๋นมา 1 ข้อ
ในเมื่อสารพัดวิชามันซัดเข้ามาเป็นหมู่คณะ เวลาจะเรียนก็ต้องรวมพลังกันเรียนฮับ ในภาคนี่แทบจะแบ่งหน้าที่กันเลย ใครเก่งอันไหน ช่วยติวอันนั้น ...แล้วคนไม่เก่งล่ะ? อย่าน้อยใจฮับ มีหน้าที่นอกเหนือจากเรื่องเรียนอีกเยอะฮับ อิอิ ...มาเรียนสาขานี้แล้ว ซาบซึ้งกับคำว่าเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อย่างมากมายฮับ

- อยากบอกน้องๆ ที่จะเลือกคณะนี้ว่า??
พี่อยากให้น้องๆที่เข้ามาเรียนในคณะนี้ สาขานี้ เป็นสาวๆสวยๆที่ยังโสดเป็นคนที่มีความตั้งใจไม่ย่อท้ออ่ะฮับ
วิชาต่างๆ การเรียน กิจกรรม มันมีเยอะจนหลายคนแค่เห็นก็ห่อเหี่ยวแล้ว แต่ใจจริง ข้าน้อยอยากให้เห็นแล้วเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับสิ่งที่จะเข้ามาอย่างรู้เท่าทันน่ะฮับผม
...เชื่อว่าหลายคนอ่านแล้วจะรู้สึกว่ากลัวจะลำบาก... แต่ ทุกๆคณะก็มีความยากในแบบของตัวมันเองแหล่ะฮับ และคนที่หนีกหนีความยาก หลบเลี่ยงความลำบากนี้ไป ก็เหมือนทิ้งความสำเร็จในชีวิตไปจากมือซะแล้ว เพราะคำว่าความสำเร็จ มันไม่มีทางลัดให้ได้มาหรอกนะฮับ ต้องทำด้วยตัวเองทั้งนั้นล่ะฮับผม ...เป็นกำลังใจให้กับน้องๆที่สนใจจะเข้ามาฮับ... ^^

โอ่ย ยาวแล้วล่ะ ข้าน้อยว่า พอแค่นี้ดีกว่าฮับ
สุดท้ายนี้ก็อยากบอกว่า ... เด็กวิทยาฯเท่กว่าที่คิดนะฮับน้อง 55555

....ข้าน้อยไม่ส่ง tag ต่อละกันฮับ
...เชื่อว่า ตอนนี้คงโดนกันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วล่ะฮับ อิอิ

ขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน และทุกๆคอมเมนท์ฮับ

edited : ใส่สี(แยกตามความโหดด้วยนะฮับ)และแยกบรรทัดให้อ่านง่ายขึ้น ตามที่คุณ skykid #1 แนะนำไว้แล้วนะฮับ

edited 2 : เพิ่มวิชาแลบเคมีฟิสิกส์ ภาค 1 ให้เป็นวิชาบังคับปี 3 ตามที่น้องเก็จ #6+9 ได้แจ้งให้ทราบ ...ขอบคุณฮับ พอดีข้าน้อยเป็นรุ่นสุดท้ายก่อนเปลี่ยนหลักสูตรมาเป็นแบบปัจจุบันน่ะฮับ แหะๆ


ปี 3 เรียนต่อยอดจาก ปี 2 พร้อมๆกับมีเริ่มให้ลงวิชาเลือก เพื่อส่งเสริมความถนัดเฉพาะสาขาแล้วล่ะฮับอันได้แก่เลคเชอร์ :
เคมีอินทรีย์ ภาค 3
- เป็นตัวจบของไตรภาคเคมีอินทรีย์ฮับ เป็นการทวนของเก่าจากภาค 1 และ 2 ให้เปลี่ยนโฉมจากวิชาท่องจำมาเป็นวิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจฮับ รายละเอียดวิชานี้ไม่แน่ชัดฮับ เนื่องจากตอนข้าน้อยเรียน มันแยกเป็นภาค 3 และ 4 แต่ภายหลังค่อยมารวบรัดเข้า เลยไม่รู้ว่ามีการตัดทอนอะไรออกไปบ้างรึเปล่าเคมีฟิสิกส์ ภาค 3 - ตัวนี้โศกนาฏกรรมฮับ... เพราะมีการจับคู่ดูโอของ อ.สุดโหดเข้าด้วยกันทั้งครึ่งแรกและครึ่งหลัง หึหึ ความยากระดับสิบกะโหลกเลยฮับผมเคมีอนินทรีย์ ภาค 2 และ 3 - พึ่งเรียนตามหลังมาฮับ จะเรียนเกี่ยวกับโลหะและตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งออกไปทาง สารประกอบเชิงซ้อน (ซับซ้อนยิ่งนักฮับ) และ สารประกอบโลหะอินทรีย์ (เอาโลหะมาผสมกับสารในเคมีอินทรีย์ โอ้ แม่เจ้า!) ทำเอาสะอึกได้เลยทีเดียวฮับผมเคมีวิเคราะห์ระดับสูง - เรียนเกี่ยวกับ การแยกสาร การเตรียมสาร และเทคนิคต่างๆที่ใช้ในการวิเคราะห์สารเพิ่มเติมขึ้นมาอีกฮับผม ...ไม่แน่ใจว่า วิชานี้ตอนนี้จัดเป็นวิชาเลือกให้กับคนที่สนใจทางเคมีวิเคราะห์แล้วรึยังนะฮับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ - แต่ก่อนเป็นวิชาเลือกฮับ ภายหลังเห็นว่าเนื้อหาสำคัญ เลยเอาไปทำเป็นวิชาบังคับ ซึ่งจะเรียนถึงเทคนิคหลักๆที่ใช้ในการวิเคราะห์หาชนิดของสาร วิชานี้เด่นมากๆ เพราะถ้าเก่งกาจแล้วล่ะก็ สามารถบอกได้เลยล่ะฮับ ว่าสารนั้นสารนี้เป็นสารอะไร โดยวิธีที่ใช้วิเคราะห์ส่วนใหญ่จะใช้กับสารอินทรีย์ฮับ
แลบ :
แลบการใช้เครื่องมือทางเคมี ภาค 1 และ 2
- หลังจากเรียนทฤษฎีว่า มีวิธีการนั้นๆนี้ๆ อันนี้จะรวมเครื่องมือที่มีอยู่ในภาควิชา มาให้ลองใช้กันฮับ เครื่องมือบางชิ้นราคาถึง 8 หลักก็มีนะฮับ ...ทำแลบแล้วต้องระวังสุดชีวิตเลยฮับ เนื่องจาก หลายชิ้นก็เปราะบางอยู่ อาจเรียนจบพร้อมกับอับจนได้ หากทำเครื่องมือพังฮับแลบเคมีอนินทรีย์
- คล้ายๆจะเรียนเพราะกลัวน้อยหน้าสาขาอื่นไงไม่รู้ฮับ เอิ๊กๆๆๆ มีหัวข้อที่น่าสนใจอย่างการสังเคราะห์ผลึกของสารด้วยล่ะฮับ ออกมาแล้วก็สวยดี น่าทึ่งๆแลบเคมีฟิสิกส์ ภาค 1 - แลบตัวนี้แปลกมากฮับ ตอนเรียนน่ะ ยากมาก แต่แลบนี้ 80%จะทำเสร็จได้ภายใน 2 ชม. แต่... นรกจะเกิดขึ้นตอนเขียนรายงานผลการทดลองฮับ คนส่วนมากจะเขียนไม่ถูกเนื่องจากไม่รู้จะเอาอะไรจากวิชาเลคเชอร์มาเขียน(ข้าน้อยก็ด้วย หัวกลวงกับวิชาสายฟิสิกส์มากๆฮับ 5555) ...และหากใครที่สนใจทางนี้จริงๆ กลัวไม่จุใจ ก็มีภาค 2 ให้เรียนเพิ่มอีกเป็นวิชาเลือกฮับ

นอกจากนั้นจะเป็นวิชาเลือกสำหรับคนที่สนใจเฉพาะทางแล้วมากกว่า เช่น การวิเคราะห์ทางกายภาพของเคมีอนินทรีย์ เคมีกับอุตสาหกรรม การใช้โปรแกรมเพื่อวาดโครงสร้างโมเลกุล เคมีกับเอ็กซ์เรย์ การหาข้อมูลทางเคมี การสังเคราะห์ยา แลบเคมีอินทรีย์ระดับสูง แลบเคมีฟิสิกส์ภาค 2 และอื่นๆอีกมากมายให้เลือกสรรฮับ ... แต่อันนี้ขึ้นกับดวงนิดนึง ว่าปีนั้นจะเปิดวิชาอะไรให้เลือกบ้างฮับ
นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมีการฝึกงาน(บังคับไปเปิดหูเปิดตา) และ เลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้วยฮับ

ปี 4 ไม่ค่อยเหลือวิชาบังคับแล้วฮับ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทำวิทยานิพนธ์มากกว่า(เพราะลำพังทำอย่างเดียวก็แย่แล้วฮับ หลายคนอาจมีประสบการณ์้กลับบ้านดึกดื่นและเจอเรื่องหลอนๆก็ปีนี้ล่ะฮับ)
วิชาบังคับหลักๆของปีนี้ จะเป็นการสัมมนาฮับ คือ เอาหัวข้อวิจัยของคนอื่นมาศึกษา และนำมาเล่าสู่กันฟังในเชิงวิชาการ ...แอบกระซิบนิดนึงว่า อ.เข้าฟังด้วยล่ะฮับ สภาพตอน อ.ยกมือถามนี่ ยังกะสมรภูมิรบฮับผม (นึกสภาพนะฮับ ตอนคนออกไปให้สัมมนา ก็เหมือนยกโล่ติดตัวไปอันนึง ไอตอนที่เพื่อนๆถามนี่ ก็แค่หยิบปืนลม ปินพก มายิงกัน กันได้สบายๆ(ถ้าเพื่อนไม่โหดเกินไป) แต่พอท่าน อ. สงสัยนี่ล่ะฮับ... หึหึ ปืนลูกโม่ เอ็ม-16 และปืนเจาะเกราะรถถังมาเองฮับ)

จบ 4 ปีมาได้ จะรู้สึกว่าแกร่งขึ้นอย่างแรงฮับผม 555555+

ความปลอดภัยในโรงงานผลิต กรด-ด่าง

คู่มือความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรด-ด่าง

                                นับช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้มีการผลิตสารเคมีซึ่งมีคุณสมบัติไวไฟระเบิดได้  เป็นพิษ  กัดกร่อน  เป็นต้น  โรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรด - ด่าง  เช่น  กรดกำมะถัน (Sulfuric acid ; H2SO4)  กรดเกลือ (Hydrochloric acid ; HCl)  กรดดินประสิว (Nitric acid ; HNO3)  กรดกัดแก้ว (Hydrofluoric acid ; HF)  โซดาไฟ (Sodium hydroxide ; NaOH)  เป็นโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานที่ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการอุตสาหกรรมประเภทอื่นอย่างต่อเนื่อง  สถานที่ตั้งโรงงานเหล่านี้มักอยู่กระจัดกระจายทั้งในปริมณฑลและต่างจังหวัด


                              



     โรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรด-ด่างจัดได้ว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่งที่มีอันตรายค่อนข้างสูง  มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย  ระเบิด  สารเคมีที่เป็นพิษและกัดกร่อนจากการรั่วไหล  อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งโรคอันเนื่องจากการทำงานได้  หากขาดมาตรการในการจัดการและดำเนินการที่ปลอดภัยรวมทั้งความรู้เบื้องต้นถึงอันตรายและการป้องกันอันตรายจากสารเคมีแต่ละชนิด  ดังนั้น  คู่มือความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมกรด-ด่าง  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติทางด้านความปลอดภัย  ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย  ในส่วนของการผลิต  การจัดเก็บ  การขนส่งและการใช้อย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติภัยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
ความหมายของกรด-ด่าง
                                กรด-ด่าง หรือสารกัดกร่อน  หมายถึง  สารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนต่อโลหะ  หรือทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อ  ผิวหนังเมื่อสัมผัสโดยตรงหรือจากการสูดดมหายใจเข้าไป  ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีนั้น ๆ
                                กรด  (Acid)  มาจากภาษาลาตินคำว่า  acidus  แปลว่า  เปรี้ยว  ซึ่งเป็นคุณสมบัติประจำตัวของกรดแต่ทางเคมีหมายถึงสารที่ให้โปรตรอน  (H+)  เช่น

                                                                HCl                         H+ + Cl-
                                                                H2SO4                    2H+ + SO4=

                                กรดแบ่งออกเป็น 2 จำพวก
  • - กรดอนินทรีย์ (Inorganic acid) เช่น กรดกำมะถัน กรดเกลือ กรดดินประสิว กรดกัดแก้ว
  • - กรดอินทรีย์ (Organic acid) ที่มี Carboxylic group (-COOH) เช่น Acetic acid, Formic acid, Lactic acid, Lavric acid, Maleic acid เป็นต้น
กรดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
          - กรดแก่ หมายถึง กรดที่สามารถให้โปรตรอนออกมาได้มากหรือแตกตัวเป็นอิออนได้อย่างสมบูรณ์
          - กรดอ่อน นั้นจะแตกตัวเป็นอิออนได้ไม่สมบูรณ์
            กรดเข้มข้น  หมายถึง  กรดที่มีจำนวนโมลของกรดมากใน 1 หน่วยปริมาตรของน้ำ 
            ความแรงของกรดพอจะจัดลำดับ  ได้ดังนี้
                HClO4 ,  H2SO4 , HCl , HNO3 , H3PO4 , HNO2 , HF , CH3COOH , H2CO3 , HCN , H3BO3
                                                มาก                                 ความแรง                             น้อย

                                กรดเจือจางทำได้โดยการเทกรดลงในน้ำอย่างช้า ๆ  พร้อมทั้งกวนให้เข้ากันหรือที่เรียกกันว่าการละลายกรดในน้ำจะเกิดความร้อนขึ้น  ความร้อนนั้นจะแพร่กระจายไปทั่วในน้ำ  กฎข้อห้ามจะไม่เทน้ำลงในกรด
                                ด่างที่มีฤทธิ์กัดกร่อนมากส่วนใหญ่จะเป็นสารอนินทรีย์  ด่างที่เข้มข้นมากจะเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อ  เช่น  โซเดียมไฮดรอกไซด์  แอมโมเนีย  ด่างจะเป็นอันตรายต่อตามากกว่ากรด
การจำแนกสารเคมีตามลักษณะและรูปร่างได้ดังนี้
                                1. ฝุ่น (Dust)  หมายถึง  สารเคมีที่เป็นอนุภาคของแข็งที่มีขนาดเล็ก ๆ เกิดขึ้นจากการที่ของแข็งถูกบด  ตี  กระแทก  เช่น  ฝุ่นกำมะถันดิบ  ฝุ่นเกลือ  ฝุ่นแร่สปาร์ (CaF2)  เป็นต้น
                                2. ฟูม (Fume)  หมายถึง  อนุภาคที่เป็นของแข็งซึ่งมีขนาดเล็ก ๆ  เกิดจากการกลั่นตัวของไอโลหะ เมื่อโลหะได้รับความร้อนจากการหลอมเหลว  เช่น  ฟูมตะกั่ว  ฟูมสังกะสี  เป็นต้น
                                3. ละออง (Mist)  หมายถึง  อนุภาคเล็ก ๆ ที่เป็นของเหลวและแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศ เกิดจากการที่ของเหลวได้รับความดันจนเกิดการแตกตัวของอนุภาค  บางครั้งละอองเล็ก ๆ อาจเกิดจากการกลั่นตัวของไอหรือก๊าซก็ได้  เช่น  ละอองเล็ก ๆ ที่เกิดจากไอของกรดกำมะถัน  เป็นต้น
                                4. ไอระเหย (Vapor)  เป็นลักษณะของไอหรือก๊าซที่เกิดจากของเหลวหรือของแข็งเปลี่ยนสถานะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและ/หรือมีการเปลี่ยนแปลงความดัน  เช่น  ไอระเหยของน้ำมันเบนซิน  ทินเนอร์  แอลกอฮอล์  เป็นต้น
                                5. ก๊าซ (Gas)  หมายถึง  ของไหลที่ไม่มีรูปร่างที่แน่นอนขึ้นอยู่กับภาชนะที่ใช้บรรจุ  สามารถเปลี่ยนเป็นของเหลวหรือของแข็งได้โดยการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและ/หรือความดัน  เช่น  ก๊าซไฮโดรเจน  ไฮโดรเจนซัลไฟด์  ซัลเฟอร์ไดออกไซด์  แอมโมเนีย  เป็นต้น
                                6. ของเหลว (Liquid)  หมายถึง  ของไหลที่เป็นของเหลวมีรูปร่างไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับภาชนะที่ใช้บรรจุ  เช่น  กรดกำมะถัน  กรดไนตริก  กรดเกลือ  เป็นต้น

การเข้าสู่ร่างกายของสารเคมี  (Route of entry)  สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ทางใหญ่ ๆ ด้วยกัน  คือ
                                1. โดยทางหายใจ (Inhalation) เป็นทางเข้าสู่ร่างกายของสารเคมีมากที่สุด  สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทุกประเภท  ทั้งนี้  เนื่องจากการเปรอะเปื้อนของสารเคมีในบรรยากาศและมนุษย์ต้องหายใจอยู่ตลอดเวลา
                                2. โดยการกิน (Ingestion)  เป็นทางเข้าสู่ร่างกายของสารเคมีน้อยมาก  สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทุกประเภท  นอกจากการเกิดอุบัติเหตุ  การขาดสุขอนามัย  เช่น  ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร  ดื่มน้ำหรือสูบบุหรี่ขณะปฏิบัติงาน
                                3. โดยการดูดซึมทางผิวหนัง  (Dermal absorption)  ปกติผิวหนังจะมีชั้นไขมันทำหน้าที่ป้องกันการดูดซึมของสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย  แต่กรด-ด่าง  มีฤทธิ์กัดกร่อนสามารถทำลายผิวหนังและชั้นไขมันทำให้ผิวหนังเป็นแผลไหม้  เกิดการระคายเคือง  อาการคัน  แสบร้อนและผิวหนังอักเสบตรงบริเวณนั้น ๆ

หลักในการป้องกันอันตรายจากสารเคมี
                                1. การป้องกันที่แหล่งกำเนิด (Source)  เป็นหลักการทั่วไปที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก  ทั้งนี้ถือว่าเป็นการป้องกันที่ให้ประสิทธิภาพมากที่สุด  และเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร  แต่มีข้อจำกัดต้องลงทุนสูงและใช้เทคนิคที่ยุ่งยาก  วิธีป้องกันอันตรายที่แหล่งกำเนิดมีดังต่อไปนี้
                                                1.1 ใช้สารเคมีอื่นที่มีพิษน้อยกว่าแทน  เช่น  การใช้สารไซลีนแทนสารเบนซิน เพราะสารไซลีนมีอันตรายต่อเม็ดเลือดน้อยกว่าสารเบนซินมาก  แต่มีคุณสมบัติเป็นตัวละลายได้เหมือนกัน
                                                1.2 เปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่  เช่น  เซลไฟฟ้าแบบปรอท (Mercury cells)  มีปรอทออกมาและเซลไฟฟ้าแบบไดอะแฟรม (Diaphragm cells)  มีฝุ่นแอสเบสตอสออกมาอาจเกิดอันตรายกับสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมได้  จึงเปลี่ยนกระบวนการผลิตมาใช้เซลไฟฟ้าแบบเมมเบรน (Membrane cells)  เป็นต้น
                                                1.3 แยกกระบวนการผลิตที่มีอันตรายออกต่างหาก  ทั้งนี้  เพื่อกำจัดการฟุ้งกระจายไม่ให้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง  เช่น  การแยกบริเวณที่มีฝุ่นมากออกต่างหาก  แยกบริเวณที่มีก๊าซไฮโดรเจนออกจากบริเวณที่เป็นแหล่งประกายไฟ  ความร้อน  เป็นต้น
                                                1.4 การสร้างภาชนะปกปิดกระบวนการผลิตหรือแหล่งของสารเคมีให้มิดชิด  ทั้งนี้  เพื่อไม่ให้สารเคมีฟุ้งกระจายออกไปยังบริเวณโดยรอบ
                                                1.5 การติดตั้งระบบดูดอากาศเฉพาะที่  เช่น  การสร้างประทุน (Hood) ดูดไอกรดจากการบรรจุเพื่อไปกำจัดในระบบกำจัด (Wet scrubber) ต่อไป
                                                1.6 การบำรุงรักษาเครื่องจักร  อุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ดี  สะอาดและเรียบร้อยอยู่เสมอ  ทั้งนี้  เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีแพร่กระจายหรือรั่วไหลออกไปหรือเป็นที่สะสมของสารเคมีต่าง ๆ
                                2. การป้องกันที่ทางผ่าน (Path)  ควรพิจารณาเป็นอันดับสองรองจากการป้องกันที่แหล่งกำเนิดไม่สามารถดำเนินการได้
                                                2.1 การบำรุงรักษาสถานที่ทำงานให้สะอาดเรียบร้อย  เพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของสารเคมี  เช่น  บริเวณทำงานที่มีฝุ่นมาก  ถ้าไม่ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอปล่อยให้ฝุ่นสะสมอยู่ตามที่ต่าง ๆ เมื่อเกิดกระแสลมพัดก็จะฟุ้งกระจายไปทั่ว
                                                2.2 ติดตั้งระบบระบายอากาศทั่วไป  ซึ่งอาจจะเป็นวิธีทางธรรมชาติ  เช่น  มีประตู  หน้าต่างและช่องลมช่วยระบายอากาศหรืออาจเป็นวิธีใช้เครื่องกล  เช่น  การใช้พัดลมเป่าดูดอากาศออกจากบริเวณนั้น ๆ ซึ่งวิธีปกติ Plant ผลิตกรด-ด่าง จะถูกออกแบบให้อยู่กลางแจ้งเพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดีตามธรรมชาติ
                                                2.3 เพิ่มระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารเคมีกับตัวบุคคลที่อาจได้รับอันตรายจากสารเคมีให้ห่างกันออกไปมากขึ้นเพราะสารเคมีจะมีอันตรายหรือความเข้มข้นน้อยลงไปเรื่อย ๆ เมื่อผู้ปฏิบัติงานเดินออกห่างจากแหล่งกำเนิดเรื่อย ๆ หรือปฏิบัติงานในห้องควบคุม (Control room)
                                                2.4 การตรวจหาระดับหรือปริมาณของสารเคมีในบรรยากาศของการทำงานเป็นประจำ  ทั้งนี้  เพื่อเปรียบเทียบความเข้มข้นของสารเคมีนั้น ๆ กับมาตรฐานความปลอดภัย ถ้าตรวจพบว่าปริมาณของสารเคมีในบรรยากาศมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยต้องรีบหาทางปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว
                                3. การป้องกันอันตรายที่ตัวคน  (Personal or Receiver)
                                การป้องกันอันตรายที่ตัวบุคคลนั้นควรจะพิจารณาเป็นอันดับสุดท้าย  ทั้งนี้  เพราะถึงแม้จะมีข้อดี  คือ  เสียค่าใช้จ่ายต่ำและปฏิบัติง่าย  แต่พบว่าเป็นวิธีที่ให้ประสิทธิภาพต่ำมาก  ยากในการควบคุมและเป็นการแก้ไขแบบไม่เบ็ดเสร็จ  หลักทั่วไปในการป้องกันอันตรายที่ตัวบุคคลมีดังต่อไปนี้
                                                3.1 การให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่ผู้ปฏิบัติงานให้ทราบถึงอันตรายจากสารเคมีที่กำลังเกี่ยวข้องอยู่  ตลอดจนให้ทราบถึงวิธีการป้องกันอันตรายจากสารเคมีนั้น ๆ รวมทั้งต้องมีการติดตามผลอยู่เสมอ
                                                3.2 การลดชั่วโมงการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายให้สั้นลง  ทั้งนี้  เพราะอันตรายจากสารเคมีนั้นนอกจากจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารเคมีและองค์ประกอบอื่น ๆ แล้วยังขึ้นกับระยะเวลาที่ได้รับหรือสัมผัสกับสารเคมีนั้น ๆ ด้วย
                                                3.3 การหมุนเวียนหรือสับเปลี่ยนหน้าที่การปฏิบัติงาน  โดยให้พนักงานได้รับสารเคมีในบางโอกาสเท่านั้น  ไม่ใช่ประจำอยู่หน้าที่เดียวตลอดไป  เพราะจะช่วยให้การได้รับอันตรายถูกแบ่งออกไปยังพนักงานต่าง ๆ ทำให้พนักงานแต่ละคนมีเวลาขับสารเคมีออกจากร่างกายมากขึ้น  เนื่องจากระยะเวลาที่ได้รับสารเคมีจะสั้นลง  วิธีนี้อาจมีขีดจำกัดในทางปฏิบัติเพราะการปฏิบัติงานบางชนิดจะไม่สามารถหมุนเวียนกันได้  เช่น  งานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษสูง  แต่ถ้าหมุนเวียนพนักงานได้ก็จะช่วยลดอันตรายลงได้วิธีหนึ่ง
                                                3.4 การให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานอยู่ในห้องควบคุมพิเศษ  เช่น  อยู่ในห้องปรับอากาศเพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่น  เป็นต้น  ตัวอย่างคนขับรถปั้นจั่นมักจะมีห้องเฉพาะที่ซึ่งมีเครื่องปรับอากาศให้เพราะจะทำให้คนขับรู้สึกเย็นสบายและช่วยป้องกันอันตรายจากฝุ่น  ฟูม  ก๊าซ  หรือไอระเหยของสารเคมี  เป็นต้น
                                                3.5 การตรวจสุขภาพร่างกายผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีก่อนรับเข้าทำงาน  เพื่อค้นหาโรคหรือสิ่งบกพร่องทางสุขภาพ  ซึ่งจะช่วยเลือกคนให้เหมาะสมกับงานด้านสารเคมีและยังต้องตรวจสุขภาพพนักงานเป็นระยะภายหลังที่ได้เข้าปฏิบัติงานแล้ว  เพื่อติดตามผลที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากทำงานเกี่ยวกับสารเคมีถ้าพบสิ่งผิดปกติหรือพบอันตรายจะได้รีบแก้ไขได้ทันท่วงที
                                                3.6 การใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล  เช่น  ที่ปิดปากและจมูกหรือเครื่องป้องกันอันตรายจากการหายใจ  ผ้ากันเปื้อน  ถุงมือ  ร้องเท้า  แว่นตาและที่ครอบหน้า  เครื่องป้องกันเหล่านี้ถึงแม้จะใช้ง่ายและราคาถูกแต่ต้องตระหนักถึงปัญหาความไม่สะดวกหรือรำคาญจากการสวมใส่อุปกรณ์เหล่านั้น  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่พนักงานไม่ยอมสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว  แต่ถ้ามีแผนการเลือกซื้อ  การฝึกอบรม  การชักจูงส่งเสริม  การใช้อย่างถูกต้อง  ตลอดจนการทำความสะอาดและบำรุงรักษาอย่างดีแล้ว  การใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลดังกล่าวก็สามารถป้องกันอันตรายได้ดีพอสมควรทีเดียว
                                                3.7 ติดตั้งก็อกน้ำ  ฝักบัว  ชำระร่างกาย (Shower)  ที่ล้างตา  (Eye wash)  และอุปกรณ์การปฐมพยาบาลต่าง ๆ เพื่อสามารถใช้ได้ทันทีเมื่อมีการได้รับอันตรายจากสารเคมีในขณะทำงาน
                                วิธีการป้องกันอันตรายทั้ง 3 วิธี ที่กล่าวมานั้นจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันในทางปฏิบัติพบว่าโดยทั่วไปจะไม่มีวิธีไหนให้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์  ดังนั้น  จึงพิจารณาใช้ทั้ง 3 วิธีร่วมกันไปจึงจะได้ผลและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

หลัก 3E เพื่อความปลอดภัย
                                1. Engineering   คือการใช้ความรู้ทางวิชาการด้านวิศวกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการคำนวณออกแบบเครื่องจักร  อุปกรณ์ที่มีสภาพการใช้งานที่ปลอดภัยที่สุดขณะใช้งานในสภาวะปกติ  การเลือกใช้วัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อน  อุณหภูมิและความดันที่เหมาะสมและจะต้องพิจารณาออกแบบเครื่องป้องกันอันตราย (Machine guarding)  ใช้สำหรับปกปิดหรือปิดกั้นส่วนที่เป็นอันตรายมิให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเข้าไปสัมผัสได้  นอกจากนั้นยังสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน  เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน  เช่น  การใช้ฉนวนหุ้มเพื่อป้องกันการแผ่รังสีความร้อน  เสียงดัง  การระบายอากาศ  การจัดแสงสว่างให้เหมาะสม  เป็นต้น  หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะต้องทำการสอบสวน  วิเคราะห์อุบัติเหตุทันที  เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุ  เพื่อจะได้นำไปหาวิธีป้องกันมิให้อุบัติเหตุลักษณะเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก
                                2. Education  คือ  การให้การศึกษา  อบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้  ความสามารถในการทำงานให้เพิ่มมากขึ้น  ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุ  การเสริมสร้างจิตสำนึกความปลอดภัย  ความรู้เกี่ยวกับสารเคมี  อันตรายและการป้องกันอันตรายจากสารเคมี  และจะต้องให้ความรู้ตั้งแต่ก่อนเข้าปฏิบัติงานโดยการฝึกอบรม  หรือสอดแทรกความรู้ประสบการณ์ควบคู่ไปกับการสอนขั้นตอนการปฏิบัติงานปกติ  ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น  การชี้แจงถึงอันตรายในแต่ละขั้นตอนการทำงานพร้อมทั้งแนะนำวิธีการป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุการกระตุ้นให้ตระหนักถึงอันตรายอยู่ตลอดเวลา
                                3. Enforcement  คือ  การออกกฎ  ระเบียบ หรือข้อบังคับ  เพื่อความปอลดภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานในกลุ่มคนหมู่มาก  รวมทั้งมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย  (SOP)  เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติทางเดียวกันและเป็นมาตรการควบคุม  บังคับให้พนักงานปฏิบัติ  โดยประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน  หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ  เพื่อให้เกิดความสำนึกและหลีกเลี่ยงการทำงานที่ไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อไป
                                การนำหลัก 3E ไปปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานนั้นจะต้องดำเนินการทั้ง 3E  พร้อม ๆ กัน  จึงจะทำให้การป้องกันอุบัติเหตุได้ผล  โดยเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบ  การเลือกอุปกรณ์  วัสดุ  การติดตั้ง  การทดสอบที่ปลอดภัย  ขณะเดียวกันก็ต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย  รวมทั้งกฎ  ระเบียบ  ข้อบังคับ  บทลงโทษให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

กรดและสารเคมี

กรด (Acid)

กรด เป็นสารประกอบที่เมื่อละลายน้ำจะ ionize ให้ไฮโดรเจนไอออน (H+) คนส่วนมากเข้าใจว่า กรดอยู่ในสภาพสารละลาย อย่างไรก็ตามมีกรดหลายชนิดเป็นของแข็ง ตัวอย่างเช่น boric acid และ citric acid
กรดทั่วๆ ไปที่ใช้กันได้แก่
HCL (hydrochloric acid)
H2SO4 (sulfuric acid)
HNO3 (nitric acid)
H2CO3 (carbonic acid)
H3PO4 (phosphoric acid)
คุณสมบัติของกรด
- กรดให้ hydrogen ion เมื่อใส่ในสารละลาย เช่น
HCL H+ + Cl-
hydrogen ion chloride ion
- สารละลายของกรดมีรสเปรี้ยว พวกมะนาวและองุ่นมีรสเปรี้ยว เนื่องจากมี citric acid อยู่ด้วย, น้ำส้ม (vinegar) มีรสเปรี้ยว เนื่องจากรสของ acetic acid , นมเปรี้ยว เนื่องจากมี lactic acid
- กรดทำปฏิกิริยากับโลหะออกไซด์และไฮดรอกไซด์ จะให้เกลือกับน้ำ เช่น
2 HCL + MgO H2O + MgCl2
magnesium oxide magnesium chloride
ขบวนการที่กรดทำปฏิกิริยากับไฮดรอกไซด์ของโลหะบางชนิด ซึ่งเรียกว่า bases แล้วได้เกลือกับน้ำ เรียกว่า ขบวนการสะเทิน (Neutralization) - กรดทำปฏิกิริยากับโลหะหลายชนิด เช่น K, Ca, Na, Mg, Al, Pb, Zn, Fe, Sn จะให้ก๊าซไฮโดรเจนและเกลือ
กรดหรือสารละลายที่เป็นกรดจึงไม่สมควรที่จะบรรจุในภาชนะที่เป็นโลหะ เช่น เหล็ก ซึ่งจะสามารถทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนไอออนในกรดได้ และไม่ควรจะให้กรดสัมผัสกับเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการผ่าตัด โดยปกติกรดควรจะเก็บไว้ในภาชนะที่เป็นแก้ว - กรดทำปฏิกิริยากับคาร์บอเนทและไบคาร์บอเนท จะให้คาร์บอนไดออกไซด์ เกลือ และน้ำ
ในกระเพาะอาหารปกติจะมีการหลั่งกรดเกลือ (HCl) ซึ่งใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นให้เอนไซม์ในกระเพาะอาหารมีประสิทธิภาพเพื่อการย่อยโปรตีน, พบว่าอารมณ์ที่เคร่งเครียดมีผลต่อการหลั่งกรดนี้มากขึ้น จึงได้มีการใช้สารลดกรด (antacids) เพื่อลดกรดในกระเพาะอาหารซึ่งในท้องตลาดมีชื่อตามการค้าหลายชนิดด้วยกัน เช่น


Tum ประกอบด้วย calcium carbonate (CaCO3) , magnesium carbonate (MgCO3) และ magnesium trisilicate (Mg2Sl3O8)
Maakox ประกอบด้วย magnesium hydroxide [Mg(OH)2] และ aluminum hydroxide [AL (OH)3]
Alka – Seltzer เป็นสารลดกรดชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วย calcium dihydrogen phosphate (Ca (H2PO4)2) , sodium bicarbonate (NaHCO3) , citric acid และ aspirin (acetyl salicylic acid) สารเหล่านี้เมื่อใส่ในน้ำ ไบคาร์บอเนทจะทำปฏิกิริยากับสารประกอบที่เป็นกรดให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเกิดเป็นฟองขึ้น
การใช้โซเดียมไบคาร์บอเนทในการลดกรดในกระเพาะอาหารนั้น อาจจะมีผลกระทบต่อขบวนการย่อยอาหารในกระเพาะอาหารได้ เพราะว่าเอนไซม์ในกระเพาะอาหารจะมีประสิทธิภาพดีในสภาพที่เป็นกรด
- กรดแก่ (strong acid) มีฤทธิ์กัดกร่อนผ้า เช่น ผ้าฝ้าย, ผ้าลินิน, ขนสัตว์, ผ้าไหมและใยสังเคราะห์ เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้ จึงควรจะระวังในการใช้กรด หากกรดหกใส่ผิวหนัง ควรจะรีบล้างน้ำเพื่อให้กรดเจือจางลง และควรใช้สารละลายโซเดียมไบคาร์บอเนทเจือจางชะล้าง เพื่อให้เกิดการทำปฏิกิริยากับกรดที่ยังเหลือตกค้างอยู่เกิดขบวนการสะเทินขึ้น
กรดแก่ หมายถึง กรดที่ ionized แล้วให้ hydrogen ion ในปริมาณที่มาก เช่น HCl, HNO3, H2SO4
กรดอ่อน (weak acid) หมายถึง กรดที่ ionized แล้วให้ hydrogen ion ในปริมาณที่น้อย เช่น carbonic acid
กรดอินทรีย์ ได้แก่ acetic acid หรือกรดน้ำส้ม (CH3COOH) formic acid หรือกรดมด (HCOOH) เป็นต้น
กรดอนินทรีย์ ได้แก่ HCL , HNO3 , H2SO4 เป็นต้น
ประโยชน์ของกรด
กรดเกลือ (HCL) เป็นของเหลว มีกลิ่นฉุน ไม่มีสี ใช้ในอุตสาหกรรม และห้องปฏิบัติการ ทั่วไปพบในน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร จำเป็นสำหรับการย่อยโปรตีน ช่วยทำลายแบคทีเรียที่จะทำให้เกิดการหมักในระบบย่อยอาหาร คนไข้ที่มีกรดเกลือต่ำในกระเพาะอาหารเรียกว่าเป็น hypoacidity

สารเป็นพิษที่พบในอาหาร

ารเป็นพิษ (Toxicant) เป็นสารเคมีหรือสารทางกายภาพ (รังสี แสง เสียง ความร้อน) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือ
ถูกสังเคราะห์ขึ้น เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลัน เรื้อรัง หรือไม่ปรากฏอาการในระยะเเรกจนพิษสะสมมาก
และแสดงออกภายหลังก็ได้ ผลของความเป็นพิษนี้ทำให้เกิดความผิดปกติในเมตาบอลิซึมหรือโครงสร้างของร่างกายได้ ความเป็นพิษ
อาจแสดงออกทันทีหรือในรุ่นลูกหลานหรือทำให้ลักษณะทางพันธุกรรมแปรเปลี่ยนไปในทางเสื่อม เกิดการก่อกลายพันธุ์หรือเกิดเป็น
มะเร็งได้
สารเป็นพิษสามารถจำแนกได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ เช่น จำแนกตามคุณสมบัติ ทางเคมี จำแนกตามผลลัพธ์
ที่เกิดขึ้น จำแนกตามความรุนแรงของพิษที่เกิด เป็นต้น สำหรับสารเป็นพิษที่พบได้ในอาหารสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. สารเป็นพิษที่พบในธรรมชาติ (Natural toxicants)
1.1 ส่วนประกอบของสารเป็นพิษที่พบในพืชและสัตว์
เช่น สัตว์กินอาหารที่มีสารพิษเข้าไป เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม ได้กินสาหร่ายที่เป็นพิษเข้าไปจำนวนมาก และเกิดการสะสมอยู่
ในตัวของหอยเหล่านั้น โดยที่ตัวหอยไม่เป็นไร เพราะหอยเหล่านี้จะมีต่อมที่สามารถจับพิษของสาหร่ายไว้ แต่คนที่บริโภคหอยจะเกิด
เป็นพิษขึ้นได้ นอกจากนี้ตัวสัตว์เองก็สามารถผลิตสารพิษได้ เช่น ปลาปักเป้า สามารถผลิตสารพิษ Tetrodotoxin ซึ่งมีฤทธิ์ปิดกั้น
ทำให้ Na++ เข้าไปภาย ในเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อไม่ได้ ผู้ป่วยจะหายใจไม่ได้ทำให้เสียชีวิตในที่สุด สำหรับส่วนประกอบ
ของ สารเป็นพิษที่พบในพืชนั้นมีหลายชนิด เช่น เห็ดพิษ ไซยาไนด์ใน มันสำปะหลัง ออกซาเลทในใบชะพลู และอัลคาลอยด์ในหมาก
1.2 Anti-vitamin
ได้แก่ สารอินทรีย์ในธรรมชาติที่สามารถสลายวิตามินหรือรวมกับวิตามินกลายเป็น สารประกอบที่ดูดซึมไม่ได้ และต่อต้านต่อเอนไซม์
ร่างกายไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือไปลดระดับวิตามิน หรือผลที่เกิดจากวิตามิน สารนั้นอาจมีโครงสร้าง ทางเคมีคล้ายวิตามิน แต่ก่อให้
เกิดอาการเป็นพิษ เช่น Antithiamin พบในพืชพวก red cabbage, red beet Antibiotin พบในไข่ดิบ หรือไข่ลวกที่ไข่ขาว ยังไม่
สุกดีซึ่งจะทำให้เป็นโรคผิวหนังจากการขาด biotin ได้ เพราะไข่ขาวมี avidin ซึ่งเป็น glycoprotein ที่จะรวมกับ biotin ได้เป็นสาร
ประกอบที่ต้านต่อกรด ด่าง และเอนไซม์
1.3 Anti-enzyme
สารกลุ่มนี้จะรบกวนการย่อยและการดูดซึมของโปรตีนตลอดจนการนำกรดอะมิโนหรือสารอาหารอื่นไปใช้ เช่น protease inhibitor
จะพบได้ใน legumes, elastase inhibitor จะพบได้ในมันฝรั่งtrypsin inhibitor จะพบได้ในพืชตระกูลถั่ว สำหรับ Antiprotease
ส่วนใหญ่จะถูกสลายด้วยความร้อน ถ้าเป็นพืชตระกูลถั่วมักจะแช่น้ำค้างคืนไว้แล้วนำไปต้มให้เดือดก็จะสามารถกำจัด inhibitor เหล่านี้ได้
นอกจากนี้สารเป็นพิษอาจเกิดจากสิ่งปนเปื้อนจากธรรมชาติก็ได้ เช่น การปนเปื้อนที่เกิดจากตัวเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของ
การปนเปื้อนในอาหาร และทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร อุจจาระร่วง เช่น Salmonella sp., Shigella sp., Escherichia coli ,
Clostridium perfrigens การปนเปื้อนของจุลินทรีย์สู่อาหารอาจเกิดจากการปนเปื้อนของวัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหาร เช่น ปนเปื้อน
จากน้ำ การปนเปื้อนที่เกิดจากสารที่ผลิตขึ้นจากเชื้อ จุลินทรีย์ สารพิษที่ผลิตขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์นี้ เรียกว่า toxin เช่น สารพิษจากเชื้อรา
Aspergillus flavus จะสร้างสารพิษ aflatoxin ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง สารพิษจากแบคทีเรีย Staphylococcus aureus จะสร้าง
enterotoxin ทำให้เกิดอาการท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ
2. สารเป็นพิษที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ (Man made toxicants)
สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร วัตถุเจือปนอาหาร สารเคมีที่มาจากภาชนะบรรจุสู่อาหาร สารเคมีที่เกิดจากอาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธี
ต่าง ๆ และสารปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม
2.1 สารเคมีที่ใช้ในการเกษตร เช่น สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ย การใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชกับผลิตผลทาง
การเกษตร มักจะทำให้เกิดมีพิษตกค้าง ซึ่งพิษตกค้างของสารเคมีอาจจะพบได้ทั้งในผลิตผลทางการเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อมด้วย
นอกจากนี้ เกษตรกรเอง ก็จะได้รับพิษจากการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการรณรงค์ให้มีการใช้สารกำจัดศัตรู
พืชจากธรรมชาติ เช่น สะเดา เพราะไม่มีพิษต่อเกษตรกร และไม่มีพิษตกค้างด้วย
2.2 วัตถุเจือปนอาหาร คือ วัตถุที่ปกติมิได้ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร ไม่ว่าวัตถุนั้นจะมีคุณค่าทาง
อาหารหรือไม่ก็ตาม แต่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อประโยชน์ทางเทคโนโลยีการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา หรือการขนส่ง ซึ่งมีผลต่อคุณภาพ
หรือมาตรฐานหรือลักษณะของอาหาร เช่น สารที่ใช้ปรับความเป็นกรด-ด่าง สารกันเสีย สีผสมอาหาร สารให้ความหวานซึ่งปริมาณ ที่เติมลง
ในอาหารของวัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้จะต้องมีข้อกำหนดที่แน่นอนไม่เช่นนั้นก็จะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้
2.3 สารเคมีที่มาจากภาชนะบรรจุสู่อาหาร อันตรายที่เกิดจากสารเคมีของภาชนะบรรจุอาหาร และปนเปื้อนสู่ตัวอาหารนั้นมักจะถูก
มองข้ามไป เพราะอันตรายที่เกิดมิได้เป็นชนิดเฉียบพลัน หากจะค่อย ๆ สะสม ภาชนะที่ใช้บรรจุอาหาร ต้องเป็นภาชนะที่สะอาดไม่เคยใช้
บรรจุหรือใส่อาหารหรือวัตถุอื่นใดมาก่อน เว้นแต่ภาชนะที่เป็นแก้ว เซรามิค โลหะเคลือบหรือพลาสติก แต่ทั้งนี้ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม
และไม่มีโลหะหนัก หรือไม่มี จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคหรือไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพภาชนะ
บรรจุอาหารไม่ว่าจะเป็นภาชนะเปิดหรือปิด ต่างต้องมีข้อกำหนดคุณภาพมาตรฐานไว้ เช่น ภาชนะบรรจุเปิดมีการระบุชนิดของวัสดุที่ใช้
ขนาดของภาชนะ ตลอดจนโลหะหนักที่ยอมให้มีได้หรือภาชนะบรรจุที่ทำด้วยพลาสติก ซึ่งใช้บรรจุนมผลิตภัณฑ์นม หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่มี
ลักษณะคล้ายคลึงกับนมต้องเป็นพลาสติกชนิด Polyethylene หรือ polycarbonate
2.4 สารเคมีที่เกิดจากอาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีต่าง ๆกรรมวิธีที่ใช้ในการแปรรูปอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความร้อน การใช้ปฏิกิริยา
เคมีหรือ เอนไซม์ หรือแม้แต่การเกิดปฏิกิริยาระหว่างส่วนประกอบ ในอาหารกับออกซิเจน สามารถก่อให้เกิดสารก่อกลายพันธุ์ (mutagen)
และสารก่อมะเร็งได้ (carcinogen) เช่น การเผา ปิ้ง ย่างอาหารประเภท ไขมัน หากมีการใช้อุณหภูมิสูงมาก ๆ จะก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง
พวก polycyclic aromatic hydrocarbon อาหารพวกโปรตีน เมื่อถูกความร้อนสูง ๆ จะกลายเป็นสารพวก heterocyclic amines
และคาร์โบไฮเดรต เมื่อถูกความร้อนสูงหรือผ่านกรรมวิธีการหมักจะเกิดสารพวก carbonyl amino condensation product
2.5 สารปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้ จากแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ เช่น การระเบิดของ ภูเขาไฟ ซึ่งมีปริมาณน้อย ส่วน
สาร เป็นพิษจากการกระทำของมนุษย์นั้นจะมาจากสารเคมีที่ใช้ใน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณสุข หากผู้ใช้ไม่มีความระมัดระวัง
หรือใช้ไม่ถูกต้อง ไม่มีระบบการกำจัดที่ดี ย่อมก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศ ดิน น้ำ ได้สารปนเปื้อนที่พบได้ในน้ำและดิน อาจเป็นสารอินทรีย์
หรืออนินทรีย์ที่มิได้กำจัดให้ถูกต้อง เกิดการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำและดิน เช่น ปรอท ตะกั่ว ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผงซักฟอก และ
สารพวก ปิโตรเคมี เป็นต้น พวกโลหะหนักถ้ามีการสะสมในเนื้อเยื่อของสัตว์น้ำก็จะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารมาสู่คนได้ ส่วนสารพวกฟอสเฟตที่
มาจากผงซักฟอก ถ้ามีปริมาณสูงในแหล่งน้ำจะทำให้เกิดภาวะ algal blooms และทำให้สัตว์น้ำตายได้
จะเห็นได้ว่าในอาหารที่เราบริโภคกันอยู่ทุก ทุกวันนี้ อาจจะมีสารเป็นพิษปนเปื้อนอยู่ ซึ่งอาจจะ มาจากสารเคมีที่เติมลงในอาหารเพื่อ
เพิ่มรส กลิ่น สี ให้มีสภาพคงทนเก็บได้นาน การแปรรูปอาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร หรืออาจเกิดจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ สารพิษจาก
จุลินทรีย์ ดังนั้นก่อนที่จะซื้อ หรือบริโภคอาหาร นอกจากจะคำนึงถึงคุณค่าของอาหารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของอาหารด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Liener IE. Toxic constituents of plant foodstuffs.New York; Academic Press. 1980.
2.Concon JM.Food Toxicology. 4th
New York; Marcel Dekker,1988.
3. วรนันท์ ศุภพิพัฒน์. อาหาร โภชนาการ และสารเป็นพิษ. กรุงเทพ; แสงการพิมพ์, 2538.

สารเคมีในชีวิตประจำวัน

บทนำ



ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห้องครัว ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนบุคคล หรือแม้แต่ยาฆ่าแมลง เป็นต้น คุณเคยหยุดคิดสักนิดบ้างไหมว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ใช้ภายในบ้านเหล่านี้ประกอบด้วยสารเคมีบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัวและสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก โดยถ้านำไปใช้ เก็บ หรือทำลายทิ้ง อย่างไม่ถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม หรืออาจติดไฟทำลายทรัพย์สินของคุณได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเรารู้จักใช้ เก็บ และทิ้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างถูกวิธี เราก็จะสามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้และใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย



ทำไมสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านจึงเป็นอันตราย

ผลิตภัณฑ์สารเคมีที่ใช้ภายในบ้านมีอันตราย โดยอย่างน้อยมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ เป็นพิษ กัดกร่อน ติดไฟได้ หรือทำปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ นํ้ายาทำความสะอาดทั่วไป ยาฆ่าแมลง สเปรย์ชนิดต่างๆ นํ้ายาขจัดคราบไขมัน นํ้ามันเชื้อเพลิง สีและผลิตภัณฑ์ที่ถูกทาสีมาแล้ว แบตเตอรี และหมึก ผลิตภัณฑ์และสารเคมีต่างๆเหล่านี้ส่วนมากถ้าได้รับหรือสัมผัสในปริมาณที่น้อยคงไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากนัก แต่ถ้าได้รับหรือสัมผัสในปริมาณที่มาก หรือในกรณีอุบัติเหตุ เช่น สารเคมีหกรดร่างกาย หรือรั่วออกจากภาชนะบรรจุ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้



สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อให้บ้านของคุณปลอดภัย

1. จัดเก็บผลิตภัณฑ์ต่างๆไว้ในที่ที่แห้งและเย็น ห่างจากความร้อน จัดวางบนพื้นหรือชั้นที่มั่นคง และเก็บให้เป็นระบบ ควรแยกเก็บผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ติดไฟได้ ทำปฏิกิริยาที่รุนแรงได้ หรือเป็นพิษ ไว้บนชั้นต่างหาก และทำความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ควรจดจำให้ได้ว่าเก็บไว้ที่ไหน และแต่ละผลิตภัณฑ์มีวัตถุประสงค์ในการใช้อย่างไร เมื่อใช้เสร็จแล้วควรนำมาเก็บไว้ที่เดิมทันที และตรวจให้แน่ใจว่าภาชนะทุกชิ้นมีฝาปิดที่แน่นหนา ผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจเป็นอันตรายได้มากกว่าที่คุณคิด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้าน เช่น นํ้ายาเช็ดกระจก แอมโมเนีย นํ้ายาฆ่าเชื้อ นํ้ายาทำความสะอาดพรม นํ้ายาขัดเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งสเปรย์ปรับอากาศ เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เช่น ผงซักฟอก นํ้ายาปรับผ้านุ่ม นํ้ายาฟอกสีผ้า เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เช่น สเปรย์ใส่ผม นํ้ายาทาเล็บ นํ้ายาล้างเล็บ นํ้ายากำจัดขน นํ้ายาย้อมผม เครื่องสำอางอื่นๆ เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสวน เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงรักษาบ้าน เช่น สีทาบ้าน กาว นํ้ายากันซึม นํ้ามันล้างสี เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์สำหรับรถยนต์ เช่น นํ้ามันเชื้อเพลิง นํ้ามันเบรค นํ้ามันเครื่อง นํ้ายาล้างรถ นํ้ายาขัดเงา เป็นต้น
2. ผลิตภัณฑ์สารเคมีทุกชนิดต้องมีฉลากและต้องอ่านฉลากก่อนใช้งานทุกครั้ง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายควรต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อ่านฉลากและทำตามวิธีใช้อย่างถูกต้องรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าฉลากมีคำว่า “อันตราย (DANGER)”, “สารพิษ (POISON)”, “คำเตือน (WARNING)”, หรือ “ข้อควรระวัง (CAUTION)” โดยมีรายละเอียดอธิบายได้ดังนี้
- อันตราย (DANGER) แสดงให้เห็นว่าควรใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ สารเคมีที่ไม่ได้ถูกทำให้เจือจาง เมื่อสัมผัสถูกกับตาหรือผิวหนังโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกกัดทำลาย หรือสารบางอย่างอาจติดไฟได้ถ้าสัมผัสกับเปลวไฟ
- สารพิษ (POISON) คือ สารที่ทำให้เป็นอันตราย หรือ ทำให้เสียชีวิต ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง รับประทาน หรือ สูดดม คำนี้เป็นเป็นข้อเตือนถึงอันตรายที่รุนแรงที่สุด
- เป็นพิษ (TOXIC) หมายถึง เป็นอันตราย ทำให้อวัยวะต่างๆทำหน้าที่ผิดปกติไป หรือ ทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง รับประทาน หรือ สูดดม
- สารก่อความระคายเคือง (IRRITANT) หมายถึง สารที่ทำให้เกิดความระคายเคือง หรืออาการบวมต่อผิวหนัง ตา เยื่อบุ และระบบทางเดินหายใจ
- ติดไฟได้ (FLAMMABLE หรือ COMBUSTIBLE) หมายถึง สามารถติดไฟได้ง่าย และมีแนวโน้มที่จะเผาไหม้ได้อย่างรวดเร็ว
- สารกัดกร่อน (CORROSIVE) หมายถึง สารเคมี หรือไอระเหยของสารเคมีนั้นสามารถทำให้วัสดุถูกกัดกร่อน ผุ หรือสิ่งมีชีวิตถูกทำลายได้
3. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เท่าที่ต้องการใช้เท่านั้น อย่าซื้อสิ่งที่ไม่ต้องการใช้ เพราะเสมือนกับเป็นการเก็บสารพิษไว้ใกล้ตัวโดยไม่จำเป็น พยายามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้หมดก่อนซื้อมาเพิ่ม ถ้ามีของที่ไม่จำเป็นต้องใช้แล้วเหลืออยู่ ควรบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการใช้ต่อไป หรือไม่ก็ควรเก็บและทำฉลากให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉลากใกล้หลุดหรือฉีกขาด และควรทิ้งผลิตภัณฑ์ที่เก่ามากๆ ซึ่งไม่ควรนำมาใช้อีกต่อไป
4. เก็บให้ไกลจากเด็ก สารทำความสะอาด หรือ สารเคมีที่ใช้ภายในบ้านอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ควรเก็บในตู้ที่เด็กเอื้อมไม่ถึง อาจล็อคตู้ด้วยถ้าจำเป็น สอนเด็กๆในบ้านให้ทราบถึงอันตรายจากสารเคมี นอกจากนี้ ควรจดเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ใกล้กับโทรศัพท์ เบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ ได้แก่ เบอร์รถพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสารพิษ และแพทย์ประจำตัว
5. ไม่ควรเก็บสารเคมีปะปนกับอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากสารเคมีอาจหกหรือมีไอระเหยทำให้ปนเปื้อนกับอาหารได้ และเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีเสร็จแล้วควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
6. ไม่ควรเก็บของเหลวหรือก๊าซที่ติดไฟได้ไว้ในบ้าน นํ้ามันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์หรือถังบรรจุก๊าซถ้าสามารถทำได้ไม่ควรนำมาเก็บไว้ภายในบ้าน ถังบรรจุก๊าซควรเก็บไว้นอกบ้านในบริเวณใต้ร่มเงาที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ต้องไม่เก็บของเหลวหรือก๊าซที่ติดไฟได้ไว้ใกล้กับแหล่งของความร้อนหรือเปลวไฟ และเก็บไว้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมหรือภาชนะที่ได้รับการรับรองแล้วเท่านั้น
7. เก็บสารเคมีไว้ในภาชนะบรรจุดั้งเดิมเท่านั้น ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายสารเคมีที่ใช้ภายในบ้านลงในภาชนะชนิดอื่นๆ ยกเว้นภาชนะที่ติดฉลากไว้อย่างเหมาะสมและเข้ากันได้กับสารเคมีนั้นๆโดยไม่ทำให้เกิดการรั่วซึม นอกจากนี้ ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายสารเคมีลงในภาชนะที่ใช้สำหรับบรรจุอาหาร เช่น ขวดนํ้าอัดลม กระป๋องนม ขวดนม เป็นต้น เพื่อป้องกันผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำไปรับประทาน
8. ผลิตภัณฑ์หลายชนิดสามารถนำไปแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อลดปริมาณสารเคมีที่เป็นพิษในสิ่งแวดล้อม
9. ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีอันตรายน้อยกว่าทดแทนสำหรับงานบ้านทั่วๆไป ตัวอย่างเช่น สามารถใช้ผงฟู และนํ้าส้มสายชูเทลงในท่อระบายนํ้า เพื่อป้องกันการอุดตันได้
10. ทิ้งผลิตภัณฑ์และภาชนะบรรจุให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่เทผลิตภัณฑ์ลงในดินหรือในท่อระบายนํ้าทิ้ง ผลิตภัณฑ์หลายชนิดไม่ควรทิ้งลงในถังขยะหรือเทลงในโถส้วม ควรอ่านฉลากเพื่อทราบวิธีการทิ้งที่เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้ผลิต



ทำอย่างไรให้ปลอดภัยขณะใช้สารเคมี

1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นพิษแทน
2. อ่านฉลากและปฏิบัติตามวิธีการใช้ทุกครั้ง
3. สวมถุงมือและเสื้อคลุมทุกครั้ง ถ้าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้เกิดอันตรายได้โดยการสัมผัสต่อผิวหนัง
4. สวมแว่นตาป้องกันสารเคมี ถ้าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อตา
5. ห้ามสวมคอนแทคเลนส์เมื่อใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น ทินเนอร์ เป็นต้น
6. หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ทันทีถ้ารู้สึกวิงเวียน ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะ
7. ควรใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ผลิตภัณฑ์ในที่โล่งแจ้ง
8. ห้ามสูบบุหรี่เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดไฟได้
9. ห้ามผสมผลิตภัณฑ์สารเคมีเอง เนื่องจากสารเคมีบางชนิดอาจทำปฏิกิริยาต่อกัน เกิดเป็นไอควันพิษหรืออาจระเบิดได้
10. พบแพทย์ทันทีถ้าสงสัยว่าได้รับสารพิษหรือได้รับอันตรายเมื่อสัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ภายในบ้าน

สารเคมี 12 ชนิดในเครื่องสำอางที่ควรหลีกเลี่ยง

คุณรู้ไหมว่า จุดด่างดำ รอยเหี่ยวย่นต่างๆ บนใบหน้าหรือแขนขา จริงๆแล้วอยู่แค่ความลึกของชั้นผิวหนัง แต่ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้เพื่อรักษาความสวยงามที่มนุษย์เรา โดยเฉพาะผู้หญิงต้องการนั้นมีสารเคมีที่สามารถแทรกซึมลงลึกได้มากกว่าชั้นผิวหนัง และถ้าหากเครื่องสำอางค์หรือครีมบำรุงผิวนั้น ซึมลึกอย่างที่โฆษณากันจริง  คุณเคยนึกมั๊ยว่า  อะไรล่ะที่มันซึมเข้าไป  และนอกจากผลเรื่องความสวยงามแล้ว สารที่ซึมลงไปในร่างกายเราจะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง



โดยเฉลี่ยคนอเมริกันจะใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว/ทำความสะอาดผิวประมาณ 9 ชนิดต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้พบว่ามีสารเคมีประมาณ 120 ชนิด อันนี้ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ผู้หญิงเราก็ต้องล้างหน้า เช็ดหน้า ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ สำหรับหน้า สำหรับตา และ อีกอันสำหรับคอ  เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องตามด้วยเครื่องสำอางค์ที่ 4-5 ชนิด  และอีกไม่น้อยที่ก็ต้องทาโลชั่นสำหรับผิวกาย  คุณเชื่อหรือไม่ว่ามีสารเคมีหลายชนิดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องประทินผิวนี้ยังไม่ได้ผ่านการทดสอบทางด้านพิษวิทยาอย่างถี่ถ้วน


The Green Guide มีรายชื่อสาร 12 ชนิด ที่เราควรหลีกเลี่ยง ถึงแม้ว่าการใช้สารเหล่านี้เพียงครั้งเดียวคงจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่การใช้ทุกวันไปเรื่อยๆตลอดอายุของคุณจะเกิดการสะสมได้ ดังนั้นเมื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ให้เราใช้เวลาในการอ่านฉลากให้นานขึ้น แม้แต่ผลิตที่โฆษณาว่า     ”มาจากธรรมชาติ  Natural” หรือ ”มาจากสมุนไพร Botanical” ก็อาจผสมสารที่ควรหลีกเลี่ยง 12 ชนิดนี้ได้


1.สารยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย  หรือ Antibacterial ตัวอย่าง เช่น Triclosan เป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มักเติมลงในสบู่ ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ใต้วงแขน เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อจาก E. coli หรือ Salmonella enterica มีรายงานระบุว่าตรวจพบ Triclosan ในน้ำนมแม่  และมีงานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่า  Triclosan ออกฤทธ์รบกวนการทำงานของฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนในเซลล์ได้ จากการศึกษาหลายๆชิ้นบ่งชี้ว่าแค่อาบน้ำด้วยสบู่ธรรมดา และน้ำอุ่นก็ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้แล้ว


2. Coal Tar เป็นสารก่อมะเร็งที่ใช้เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในแชมพูขจัดรังแค และครีมทาแก้คัน สีผสมอาหารบางชนิดที่มีโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับ Coal Tar เช่น FD & C Blue 1 ที่มักใช้ในยาสีฟันและ FD&C Green 3 ที่มักใช้ในน้ำยาบ้วนปาก ก็พบว่ามีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองเมื่อฉีดสีเหล่านี้เข้าใต้ผิวหนัง


3.  Diethanolamine (DEA) สารชนิดนี้พบว่าอาจออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของฮอร์โมน และอาจเป็นสารก่อมะเร็ง และมีผลทำให้ปริมาณ choline ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมองของตัวอ่อนในครรภ์ลดลงด้วย เราอาจพบ DEA ได้ในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอนุพันธ์ DEA เช่น cocamide DEA ได้ เนื่องจากการปนเปื้อนมากับตัววัตถุดิบ

 4. 1,4-Dioxane เป็นที่ยอมรับกันว่าสารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ และอาจเป็นสารก่อมะเร็งในคนด้วย Dioxane มักพบปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Sodium Laurth Sulfate หรือสารเคมีที่มีคำว่า “PEG,” “-xynol,” “ceteareth,” และสารเคมีที่มักลงท้ายว่า ethoxylated "eth" ถึงแม้ว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ทำการเฝ้าระวังสารปนเปื้อน 1,4 Dioxane แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดค่าสูงสุดที่มนุษย์สัมผัสได้ แม้ว่าผู้ผลิตเครื่องสำอางได้ใช้กระบวนการ “vacuum stripping” เพื่อขจัด dioxide ออกแต่ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยลดปริมาณปนเปื้อนที่พบในผลิตภัณฑ์อาบน้ำเด็กเหลือเพียง 10 ส่วนในล้านส่วน  จากการสำรวจในปี 2007 โดยโครงการรณรงค์การใช้เครื่องสำอางปลอดภัย ในขณะที่การสำรวจในปี 2001 นั้นมีสารปนเปื้อน dioxane ถึง 85 ส่วนในล้านส่วน



5. Formaldehyde เป็นสารที่มีอันตรายต่อสุขภาพหลายข้อด้วยกัน รวมถึงพิษต่อระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ระคายเคืองทางเดินหายใจ และทำให้เกิดมะเร็งในคน ซึ่งสาร Formaldehyde สามารถตรวจพบได้แม้ในสบู่อาบน้ำเด็ก ยาทาเล็บ กาวติดขนตา และยาย้อมผม โดย Formaldehyde ปนเปื้อนมากับสารเคมีตัวอื่นหรืออาจเกิดจากการสลายตัวของ diazolidinyl urea(สารกันบูด) หรือ imidazolidinyl urea (สารกันบูด) หรือสารประกอบ quarternium


6. Fragrance น้ำหอม คำว่าน้ำหอมอาจใช้แทนสารเคมีกลุ่ม phthalates ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นกลิ่นสังเคราะห์หรือน้ำหอมสังเคราะห์นั่นเอง โดยสารกลุ่มนี้จะรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อจึงอาจก่อให้เกิดความอ้วน และอาจมีผล        รบกวนระบบสืบพันธ์และการพัฒนาการได้ การหลีกเลี่ยงสารกลุ่ม phthalates ทำได้โดยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารแต่งกลิ่น/ น้ำหอมที่สกัดจากธรรมชาติ หรือ essential oil ที่มักนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์สปาราคาสูง เนื่องจากน้ำมันหอมมระเหยสกัดจากธรรมชาติมีราคาแพงกว่าน้ำมันหอมระเหยสังเคราะห์


7.Lead and Mercury สารตะกั่วและปรอท ตะกั่วมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทที่พบในธรรมชาติที่ปนเปื้อนมากับ hydrated silica โดย hydrated silica เป็นสารที่มักพบยาสีฟันส่วน lead acetate พบได้ในยาย้อมผมสำหรับผู้ชาย บางยี่ห้อ ส่วนปรอทซึ่งเป็นสารที่ทำลายสมอง อาจพบได้ในมาสคาร่าที่ใช้ thimerosol เป็นสารกันเสีย


8.Nanoparticles  เป็นสารอะไรก็ได้ที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากๆ จึงเกิดการแทรกซึมเข้าผิวหนังและถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดและไปทำลายเซลล์สมองได้ พบการใช้ nonoparticles เพิ่มขึ้นในเครื่องสำอางและครีมกันแดด  ตัวที่มีปัญหามากที่สุดคือ zinc oxide หรือ titanium dioxide ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในการป้องกันรังสี uv ที่ใช้แล้วไม่ทำให้หน้าขาว  ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการดูดซึมของ zinc oxide หรือ titanium dioxide เข้าสู่ร่างกาย  ให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่ใช้อนุภาคขนาด 100 nanometres ขึ้นไป โดยการโทรศัพท์ไปถามผู้ผลิตถึงขนาดของ zinc oxide และ titanium dioxide ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์  ปัจจุบันมีบางบริษัทได้โฆษณาระบุว่าปราศจากสาร nanoparticles บนฉลากด้วย


9. Parabens สารกลุ่มพาราเบน  เช่น (methyl-,ethyl-,propyl-,putyl-,isobutyl-)Parabens มีฤทธิ์ฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิงอย่างอ่อนๆ ) เป็นสารกันบูดที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว มีการศึกษาพบว่า putyl paraben มีฤทธิ์ทำลายการสร้างสเปริ์มในอัญฑะของหนู  ใน EU ได้ประกาศห้ามใช้  sodium  methylparaben  ในเครื่องสำอางแล้ว เมื่อ paraben เข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น p-hydroxybenzoic acid  ที่มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจนในเซลล์เพาะเลี้ยงมะเร็งเต้านม

10. Petroleum Distillates  สารสกัดจากปิโตรเลียม อาจเป็นสารก่อมะเร็งในคนได้ โดย E.U. ได้ประกาศห้ามใช้หรือจำกัดการใช้ในเครื่องสำอางแต่ยังใช้แพร่หลายในเครื่องสำอางประเภทมาสคาร่า  แป้งดับกลิ่นเท้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ  ที่มาจากสหรัฐอเมริกาบางยี่ห้อ  ให้สังเกตชื่อส่วนผสมที่เขียนว่า liquid paraffin และ petroleum.

11. P-Phenylenediamine เป็นสารที่พบในยาย้อมผม  มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท  ทำให้ระคายเคืองปอดและก่อให้เกิดการแพ้ สารกลุ่มที่มีชื่อเรียกอื่นได้เช่น  1,4-Benzenediamine; p-Phenyldiamine and 4- Phenylenediamine.


12. Hydroquinone มักพบในครีมหน้าขาวหรือโลชั่นผิวขาว Hydroquinone มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและก่อให้เกิดการแพ้ มีหลักฐานบางชิ้นระบุว่า ทำให้เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง และอาจพบเป็นสารเจือปนในส่วนประกอบบางอย่างที่ไม่เขียนบนฉลากได้

14 สารเคมีในเครื่องสำอางควรรู้จัก

ปัจจุบันการดูแลตัวเองของคนในบ้าน ไม่เฉพาะแต่เพียงผู้หญิงเท่านั้นที่ใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ คุณผู้ชาย หรือลูกผู้ชายในบ้านส่วนใหญ่ ก็หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพผิวกันมากขึ้น แต่การเลือกใช้ครีมบำรุงผิวที่มีความเป็นธรรมชาติสูง หลายคนอาจมองข้ามไป เพราะส่วนมากจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขายตามท้องตลาดเสียมากกว่า ซึ่งถ้าเลือก และใช้อย่างไม่ระวัง สารเคมีที่อยู่ในเครื่องสำอางดังกล่าว อาจตกค้าง และสะสมในร่างกายก็เป็นได้ ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์ความงามกำลังตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการสะสมสารพิษในร่างกายโดยไม่จำเป็น

สอดรับกับข้อมูลชิ้นหนึ่งที่รายงานว่า “ผู้หญิงซึมซับสารเคมีจากเครื่องสำอางทุกชนิดเฉลี่ยปีละเกือบ 2 กิโลกรัม ในขณะที่เอนไซม์ในน้ำลาย และน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร อาจทำลายสารเคมีในลิปสติกได้ แต่ถ้าเป็นโลชั่นที่ซึมซับผ่านทางผิวหนัง และทางกระแสเลือดนั้น ไม่สามารถป้องกันได้เลย

จนในที่สุดไปสะสมที่ตับ เพราะร่างกายไม่สามารถจำกัดออกทางผิวหนัง และการขับถ่ายได้ ทำให้เกิดผดผื่น ซึ่งเป็นผลจากการขับพิษตามธรรมชาติออกจากร่างกายทางหนึ่ง” จึงเป็นเหตุผลให้สมาชิกในบ้านที่รักสวย รักงาม ต้องหันมาใส่ใจ และเลือกซื้อเครื่องสำอางกันมากขึ้น

1. Mineral Oil (Petrolatum)

เป็นสารที่แยกจากการสกัดน้ำมันปิโตรเลียม มักถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอางจำพวกเบบี้ ออย และเครื่องสำอางประเภทมอยเจอร์ไรเซอร์ ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิว แต่เพราะเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ จึงอาจเกิดการตกค้างที่ผิวหนัง เป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้ อาทิ ปัญหาสิวอุดตัน รูขุมขนอุดตัน หรือผิวหนังอักเสบ เป็นต้น

2. Propylene Glycol

สารตัวนี้ เป็นสารเคมีที่ใช้เพื่อป้องกันการจับตัวเป็นของแข็ง ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมถูกนำไปใช้ในการทำละลาย อาทิ สี และพลาสติก และถูกนำมาใช้กับเครื่องสำอางในกลุ่มมอยเจอร์ไรเซอร์ ทำหน้าที่เก็บรักษาความชุ่มชื้นในเครื่องสำอาง ซึ่งหากใช้ในปริมาณน้อยจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าผิวแพ้ อาจเกิดการระคายเคืองได้ และถ้าสะสมในปริมาณมาก อาจมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง และมีแนวโน้มเป็นสารตั้งต้นให้เกิดโรคมะเร็ง

3. Triethanolamine (TEA)

สารเคมีชนิดนี้พบมากในเครื่องสำอางจำพวกบอดี้ โลชั่น แชมพู โฟมโกนหนวด และครีมบำรุงรอบดวงตา กับหน้าที่ในการปรับค่า pH ไม่ให้เป็นกรด-ด่าง มากเกินไป ซึ่งหากร่างกายได้รับในปริมาณน้อยก็ไม่เกิดอันตราย แต่หากสะสมในปริมาณมาก อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้ อย่างไรก็ดี หญิงตั้งครรภ์ควรเลี่ยง เพราะเป็นสารเคมีที่มีผลต่อทารกในครรภ์ในช่วงพัฒนาการทางสมอง

4. IPM (Isopropyl Myristate)

เป็นสารเคมีที่ใช้กันมากในวงการเครื่องสำอาง กับคุณสมบัติในการเคลือบผิวเพื่อเก็บรักษาความชุ่มชื้น อย่างไรก็ดี จากการทดลองในสัตว์ พบว่า สารเคมีชนิดนี้ทำให้เกิดการอุดตันที่รูขุมขน ซึ่งอาจทำให้ผิวระคายเคือง และทำให้เกิดปัญหาผิวหนังได้

5. Polyethylene

สารเคมีชนิดนี้ พบมากในเครื่องสำอางจำพวกสครับ เนื่องจากเป็นพลาสติกที่ลื่นมัน ยืดหยุ่นได้ดี จึงใช้เป็นเม็ดสครับผิวได้ แต่เนื่องจากเป็นสารเคมีจำพวกพลาสติก จึงถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมในของใช้ต่าง ๆ เช่น ขวดใส่สารเคมี ขวดใส่น้ำ บรรจุภัณฑ์ ฉนวนไฟฟ้า หรือแม้แต่เก้าอี้ ซึ่งแม้จะไม่สามารถซึมผ่านสู่ผิวหนังได้ แต่ก็อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว และไม่เป็นมิตรกับร่างกาย

6. Imidazolidinyl and Diazoliddinyl Urea

สารกันเสียชนิดนี้ถูกนำมาใช้ทั่วไปในกลุ่มเครื่องสำอาง กับหน้าที่ในการกำจัดแบคทีเรีย หรือจุลชีพต่าง ๆ แต่ด้วยการสลายตัวที่ทำให้เกิดสารฟอมาลดีไฮด์ (Formaldehyde) จึงทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และระบบหายใจได้ ซึ่งพิษสะสมอาจทำให้การทำงานของเซลล์ร่างกายผิดปกติ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง

7. Paraben

คือสารกันเสียที่นิยมใช้อย่างมากในกลุ่มเครื่องสำอางจำพวกผิวหนังและเส้นผม รวมถึงผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น หรือโรลออน เพราะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่เนื่องจากเป็นสารเคมีที่พบในผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทที่ง่ายต่อการสะสมในร่างกาย หลายองค์กรจึงรณรงค์ให้เลี่ยงการใช้พาราเบนที่พบว่าเสี่ยงต่อการระคายเคืองผิว อาจขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ และอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม

8. SLES (Sodium Laureth Sulfate)

คือสารเคมีที่นิยมเติมลงในเครื่องสำอางจำพวกแชมพู หรือเจลอาบน้ำเพื่อทำให้เกิดฟองและลดแรงตึงผิว สามารถพบได้ในแชมพูเกือบทุกประเภท ด้วยผู้บริโภครู้สึกว่าสามารถกำจัดไขมันออกจากผิว และผมอย่างหมดจด แต่แท้จริงแล้ว สารลดแรงตึงชนิดนี้มีส่วนเสียคือ มีฤทธิ์ทำให้กระบวนการป้องกันผิวและดูแลเส้นผมตามธรรมชาติอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการระคายเคือง และหากกระบวนการผลิตมีการปนเปื้อนก็อาจเป็นสารก่อมะเร็งได้

9. Artificial Color

มีเครื่องสำอางจำนวนไม่น้อยที่ใช้สีในการเติมแต่งเพื่อให้เกิดความงาม น่าใช้ บางชนิดเป็นสารเคมีสังเคราะห์ และบางชนิดเป็นสีที่ใช้ในอาหาร (Food grade - ซึ่งค่อนข้างมีความปลอดภัย) อย่างไรก็ดี ย่อมเป็นการปลอดภัยกว่าในการงดการใช้สีที่มาจากการสังเคราะห์ทุกประเภท เนื่องจากอาจมีสารหนัก รวมทั้งสารหนูและสารตะกั่ว อันเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง

10. Silicone

ซิลิโคนมีลักษณะคล้ายยาง มีความยืดหยุ่นสูงและมีอยู่หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับประเภทใช้งาน แต่ถูกนำมาใช้ในวงการความงามอย่างแพร่หลาย โดยในเครื่องสำอางนั้น มักถูกนำมาใช้กับครีมนวดผมเพื่อให้รู้สึกนุ่มลื่น ช่วยเคลือบบำรุงเส้นผมให้ดูเงางาม นุ่มสลวย แต่อาจเกิดการสะสมในตับและต่อมน้ำเหลืองหากใช้ในปริมาณมาก ซึ่งสามารถเป็นตัวเร่งการเกิดเนื้องอกและมะเร็งได้

11. Petroleum Derivative

เป็นสารเคมีที่ได้มาจากการแยกน้ำมันปิโตรเลียม มักถูกนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหลายประเภท อาทิ ครีมรองพื้น โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิว เพื่อทำหน้าที่เก็บกักความชุ่มชื่นผิวโดยการเคลือบผิวไว้ แต่ด้วยความที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่และผ่านกรรมวิธีทางเคมี จึงอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง อุดตันผิว และเกิดสิวได้ และหากเก็บกักสะสม อาจเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของผิว และทำให้ฮอร์โมนและภูมิคุ้มกันในเพศหญิงอ่อนแอ

12. Synthetic Polymer

โพลิเมอร์มีสารตั้งต้นจากพลาสติก ที่ผ่านกระบวนการทางเคมีให้มีความเหนียวนุ่ม ยืดหยุ่น นิยมนำมาทำบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมทั้งเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อาทิ ครีมนวดผม หรือเจลแต่งทรงผม ทำหน้าที่หลากหลายขึ้นอยู่กับการใช้งาน อาทิ การเพิ่มเนื้อสัมผัส การเคลือบผิว หรือการเก็บรักษาความชุ่มชื้น อย่างไรก็ตาม มีสารโพลิเมอร์บางชนิดสามารถหาได้จากพืช อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด และมะพร้าว ซึ่งเป็นมิตรกับธรรมชาติและเหมาะสมกับร่างกายของเรามากกว่า

13. PEG (Polyethylene Glycol)

เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อทดแทนสารเพิ่มความชุ่มชื้น มักถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ความงามจำพวกทำความสะอาดและบำรุงผิว โดยสถาบันเผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัตถุในสหรัฐอเมริกา (III) ได้ออกคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีชนิดนี้ เพราะระคายเคืองต่อผิวสูง และอาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติในตับและไต และอาจเกิดการปนเปื้อนจากการผลิตซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับและจมูก


14. Quats

คือสารชะล้างที่มักนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ขัดล้างต่าง ๆ อาทิ น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาขัดพื้น และนำมาใช้กับเครื่องสำอางจำพวกแชมพู หรือเจลอาบน้ำทั้งหลาย เพื่อให้รู้สึกถึงการทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นสารเคมีรุนแรง จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผิวเกิดผดผื่น แพ้ และทำลายระบบทางเดินหายใจหากใช้ในปริมาณสูงและใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ผลิตภัณฑ์ที่ดี ควรสกัดมาจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะพร้าว ผัก หรือผลไม้ ซี่งผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน ส่วนมากมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบหลักอยู่แทบทุกชนิด เช่น สารกันเสียที่มากเกินไป หรือสารอื่น ๆ ที่เรายังไม่รู้ และเป็นอันตรายต่อผิวหนัง ดังนั้นก่อนซื้อควรทดลองกับผิวบริเวณแขนของตัวเองก่อน ถ้าทาแล้วไม่รู้สึกระคายเคือง หรือไม่มีอาการคัน ก็สามารถใช้ได้

ที่สำคัญ การเลือกซื้อเครื่องสำอาง ไม่ควรซื้อเพราะเห็นคนอื่นใช้แล้วดี แต่ควรดูสภาพผิวของตัวเองด้วยว่า เหมาะสมหรือไม่ อีกอย่างไม่ควรซื้อเกินกำลังของตัวเอง และนอกจากนี้ยังมีสมุนไพรไทย เช่น ขมิ้น ว่านหางจระเข้ สามารถนำมาขัด และบำรุงผิวได้เหมือนกัน โดยไม่มีสารเคมี แถมหาได้ง่าย หรือถ้าจะล้างเครื่องสำอางออก วิธีง่ายๆ ก็คือ ใช้น้ำมันมะพร้าวเช็ด และล้างน้ำออก ซึ่งได้ผลดีเหมือนกัน