การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อหลายสิบปีก่อนหน้านี้ เน้นที่การจัดการปลายท่อ หมายถึง ดูแค่ว่าของเสียที่ถูกปล่อยออกมาจะจัดการได้อย่างไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์การเรียนรู้จากสภาพปัญหาก็ทำให้วิธีคิดของการจัดการมาเน้นตั้งแต่ต้นทาง ถ้าต้นทางดูแลได้ดี ปัญหาที่ปลายทางก็จะลดลง และเพื่อจะให้เกิดความยั่งยืน ก็ต้องดูทั้งระบบตลอดสายและมองให้ครบทุกมิติของเศรษศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลตอกัน การจัดการสารเคมีก็ทำนองเดียวกัน ครั้งหนึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตต้นทาง คิดถึงแต่ความเสี่ยงจากการผลิตไปสู่ อากาศ น้ำ สิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้วการปลดปล่อยสารพิษเกิดขึ้นระหว่างการใช้และการทิ้งด้วย เช่น ตะกั่วในของเล่นและเครื่องประดับ สาร PFC (Perfluorinated compound) ในสิ่งทอ ใช้ในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อใช้เป็นวัสดุกันน้ำ สารตัวนี้คงทน จึงสะสมได้ในระบบชีวภาพ DEHP (Diethylhexyl phthalate) ใช้เป็น plasticizer ในพลาสติก PVC จะหลุดออกมาระหว่างการใช้ ตัวอย่างเช่นนี้มีอีกมากมาย สารเคมีที่ออกมาสู่ตลาด ก็ไม่แน่ว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับอันตรายเพียงพอเพียงใด เพราะเมื่อก่อนการศึกษายังไม่ครบถ้วน อาจมีการมาพบที่หลังว่าเกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว การส่งต่อสารอันตรายจึงกระจายไปได้ทั่วโลกโดยผ่านตัวสินค้าที่ค้าขายกัน
สภาพปัญหาจึงเป็นประเด็นสากลเพื่อลดความเสี่ยง มาตราการระดับอนุสัญญาสหประชาชาติออกมาหลายอนุสัญญา เช่น อนุสัญญารอตเตอร์ดัมเพื่อให้มีการแจ้งขออนุญาตก่อน (Convention on the Prior Informed Consent Procedure for Certain Hazardous Chemicals and Pesticides in International Trade, PIC) หรืออนุสัญญาสตอกโฮล์มเกี่ยวกับสารตกค้าง (Protocols on Heavy Metal and Persistent Organic Pollutants, POPs) ในกระแสโลกแนวคิดของการจัดการสารเคมีจึงหันมาให้ความสำคัญกับหลักการป้องกันไว้ก่อน (precautionary) เพราะการจัดการแบบเดิมไม่สามารถให้ความมั่นใจต่อความปลอดภัยของสังคมได้ มาตรการหรือกฎหมายของประเทศต่างๆได้ถูกปรับเปลี่ยนเกือบจะเรียกว่า โละทิ้งกฎหมายเก่า เพื่อให้เกิดการจัดการเชิงรุกมากกว่าการล้อมคอก ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2008 ได้ปรับปรุงกฎหมาย Consumer Product Safety ที่มีมาตั้งแต่ ค.ศ.1973 ยกเครื่องกฎระเบียบให้ผู้บริโภคสบายใจได้ว่าสินค้าที่อยู่บนหิ้งในร้านปลอดภัย เช่น มีการห้ามใช้ตะกั่วในของเล่นเด็ก กำหนดมาตรฐานใหม่ของสารหลายชนิดในผลิตภัณฑ์ ประเทศแคนนาดาประกาศใช้กฎหมายทำนองเดียวกันเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2010 สำหรับประชาคมยุโรปได้ออกระเบียบ REACH ในปี ค.ศ.2007 (Registration, Evaluation, Authorisation and Restriction of Chemicals) เพื่อจัดระบบใหม่ให้มีมาตรการที่ทำให้มีข้อมูลสารเคมีทุกชนิดเข้าสู่ระบบ โดยให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบในข้อมูลการประเมินความเสี่ยงทั้งหลาย และข้อมูลความปลอดภัยเหล่านี้จะต้องถูกส่งต่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน แม้ว่าจะเป็นมาตรการใช้กับภาคีสมาชิก แต่เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้าขายโดยปริยาย ประเทศคู่ค้าทั้งหลายจึงถูกกระทบไปด้วย ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศผู้ผลิตก็มีความเคลื่อนไหวในทางที่ดีขึ้น นอกจากจะปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว บางแห่งก็มีมาตรการเพิ่มขึ้นตามความสมัครใจ ภาคธุรกิจเริ่มขยับตัวเห็นได้จาก Wal-Mart ได้ตกลงกับสมาคมการค้า ผู้จัดจำหน่าย (supplier) และบริษัทจัดการข้อมูล เพื่อสร้างระบบการจัดการข้อมูล โดยเน้นที่ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณสารเคมีสูงและกระจายกว้างขวางในตลาด เช่น ผลิตภัณฑ์ซักล้าง คำว่า “สารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Chemicals in Product, CiP)” เริ่มพูดกันมากขึ้น มีเว็บไซต์หลายแห่งที่เปิดให้บริการ เพื่อผู้บริโภคจะทราบได้ว่าส่วนประกอบทางเคมีในผลิตภัณฑ์คืออะไร วิธีใช้อย่างปลอดภัยคืออะไร ความเคลื่อนไหวได้เคลื่อนเข้าสู่ภาคการเงินไปแล้ว ดังธนาคาร HSBC ยังมีนโยบายสารเคมีกำหนดขึ้นในการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคและสารเคมี เพราะจริงๆ แล้วประเด็นนี้ก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อธุรกิจ และต่อภาพพจน์ของธุรกิจ เวทีขององค์การสิ่งแวดล้อมโลก (UNEP) ในโปรแกรม SAICM (Strategic Approach to International Chemical Management) ก็ใช้ประเด็น CiP เป็นตัวขับเคลื่อน
จะเห็นได้ว่าการจัดการสารเคมีต้องทำเชิงรุก ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การคาดการณ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ และองค์ประกอบสำคัญในการจัดการเชิงรุกก็อยู่ที่ตัวข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสารเคมี ที่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การผลิต การใช้ จนถึงการทิ้ง และกำจัด ข้อมูลดังกล่าวนี้ต้องส่งต่อ สื่อสารตลอดเส้นทางของห่วงโซ่อุปทาน ข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญในการตัดสินใจใช้ของผู้เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่คนออกแบบสินค้า คนงานในโรงงาน คนขายส่งขายปลีก ถึงผู้บริโภค และต่อไปจนถึงผู้นำกลับมาใช้ และกำจัด อุตสาหกรรมจะสร้างความน่าเชื่อถือต่อสังคมได้ ก็ต่อเมื่อสังคมแน่ใจได้ว่า สารเคมีที่มีในตลาด และในสินค้าได้รับการประเมินถึงอันตรายแฝง ข้อมูลสารเคมีจากต้นทางจึงมีความสำคัญและต้องเข้าถึงได้ในระดับหนึ่ง จึงมีการจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ใช้ (Chemical inventory) และฐานข้อมูลสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (CiP) เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ส่วนมากคือประเทศพัฒนาแล้ว จากแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Greener Economy) ที่มีอุปสรรคอยู่ที่การขาดข้อมูลของสารเคมี
การจัดการสารเคมีของไทยอยู่ในสภาพคล้ายๆ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย คือขาดข้อมูลพื้นฐานทั้งหลาย มาตรการที่ไม่เข้มงวดจึงเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งร่วมเวทีกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นสมาชิกที่ดีปฏิบัติตามโดยตลอด ในขณะที่ผู้บริโภคในประเทศคู่ค้า เช่น EU เข้มแข็งขึ้น การคุ้มครองความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องเข้ามาเกี่ยวกับการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็ยังตามไม่ทันนโยบายหรือมาตรการใหม่ๆ ของประเทศคู่ค้า ขาดการพัฒนากฎหมาย จึงถูกบีบด้วยมาตรการฝ่ายเดียวอย่าง REACH ของ EU เป็นต้น กฎหมายและมาตรการบังคับใช้ที่อ่อนแอ เป็นช่องว่างให้เกิดการหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะเรียกร้อง การย้ายฐานการผลิต การใช้สารต้องห้าม การนำเข้า ครอบครอง และขนส่งสารอันตราย ล้วนมาจากปัญหาพื้นฐานของการขาดข้อมูลสารเคมีทั้งสิ้น
ดังนั้นหากประเทศไทยจะลุกขึ้นจัดการสารเคมีเชิงรุก จำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ ภาคอุตสาหกรรมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ตั้งแต่การจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีที่ใช้ (Chemical inventory) และรายการสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (Chemicals in Product) มาตรการภาครัฐฯ ต้องดำเนินการภายใต้หลักการป้องกันไว้ก่อนและหลักของสิทธิการรับรู้ เพื่อให้ภาพรวมและการเคลื่อนไหวของสารเคมีปรากฎชัดขึ้นเพียงพอต่อการกำหนดนโยบายหรือมาตรการได้อย่างถูกทิศทาง และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค รวมทั้งสังคมในภาพกว้าง เมื่อตั้งต้นจากการมีข้อมูลพื้นฐานแล้ว เรื่องของความปลอดภัยด้วยการส่งต่อข้อมูลตลอดสายโซ่อุปทาน การมีเทคนิคการสื่อสาร การสร้างความตระหนักรู้ย่อมทำได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะไปในทิศทางที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของสินค้าต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเข้มข้นขึ้นทุกที
ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม “เกาะกระแสโลก” เราสามารถที่จะเรียนรู้วิธีคิดของกระแสโลกอย่างมีเหตุมีผล เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการจัดการให้เหมาะสมกับเราได้อย่างรู้เท่าทัน อยู่ที่ว่าเราจะเริ่มหรือไม่ และทำอย่างไรดี ทั้งนี้มิใช่เพื่อใครอื่น แต่เพื่อความปลอดภัยทางสังคมไทยและสิ่งแวดล้อมของไทยเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น