วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

14 สารเคมีในเครื่องสำอางควรรู้จัก

ปัจจุบันการดูแลตัวเองของคนในบ้าน ไม่เฉพาะแต่เพียงผู้หญิงเท่านั้นที่ใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ คุณผู้ชาย หรือลูกผู้ชายในบ้านส่วนใหญ่ ก็หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพผิวกันมากขึ้น แต่การเลือกใช้ครีมบำรุงผิวที่มีความเป็นธรรมชาติสูง หลายคนอาจมองข้ามไป เพราะส่วนมากจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขายตามท้องตลาดเสียมากกว่า ซึ่งถ้าเลือก และใช้อย่างไม่ระวัง สารเคมีที่อยู่ในเครื่องสำอางดังกล่าว อาจตกค้าง และสะสมในร่างกายก็เป็นได้ ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์ความงามกำลังตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการสะสมสารพิษในร่างกายโดยไม่จำเป็น

สอดรับกับข้อมูลชิ้นหนึ่งที่รายงานว่า “ผู้หญิงซึมซับสารเคมีจากเครื่องสำอางทุกชนิดเฉลี่ยปีละเกือบ 2 กิโลกรัม ในขณะที่เอนไซม์ในน้ำลาย และน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร อาจทำลายสารเคมีในลิปสติกได้ แต่ถ้าเป็นโลชั่นที่ซึมซับผ่านทางผิวหนัง และทางกระแสเลือดนั้น ไม่สามารถป้องกันได้เลย

จนในที่สุดไปสะสมที่ตับ เพราะร่างกายไม่สามารถจำกัดออกทางผิวหนัง และการขับถ่ายได้ ทำให้เกิดผดผื่น ซึ่งเป็นผลจากการขับพิษตามธรรมชาติออกจากร่างกายทางหนึ่ง” จึงเป็นเหตุผลให้สมาชิกในบ้านที่รักสวย รักงาม ต้องหันมาใส่ใจ และเลือกซื้อเครื่องสำอางกันมากขึ้น

1. Mineral Oil (Petrolatum)

เป็นสารที่แยกจากการสกัดน้ำมันปิโตรเลียม มักถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอางจำพวกเบบี้ ออย และเครื่องสำอางประเภทมอยเจอร์ไรเซอร์ ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิว แต่เพราะเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ จึงอาจเกิดการตกค้างที่ผิวหนัง เป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้ อาทิ ปัญหาสิวอุดตัน รูขุมขนอุดตัน หรือผิวหนังอักเสบ เป็นต้น

2. Propylene Glycol

สารตัวนี้ เป็นสารเคมีที่ใช้เพื่อป้องกันการจับตัวเป็นของแข็ง ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมถูกนำไปใช้ในการทำละลาย อาทิ สี และพลาสติก และถูกนำมาใช้กับเครื่องสำอางในกลุ่มมอยเจอร์ไรเซอร์ ทำหน้าที่เก็บรักษาความชุ่มชื้นในเครื่องสำอาง ซึ่งหากใช้ในปริมาณน้อยจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าผิวแพ้ อาจเกิดการระคายเคืองได้ และถ้าสะสมในปริมาณมาก อาจมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง และมีแนวโน้มเป็นสารตั้งต้นให้เกิดโรคมะเร็ง

3. Triethanolamine (TEA)

สารเคมีชนิดนี้พบมากในเครื่องสำอางจำพวกบอดี้ โลชั่น แชมพู โฟมโกนหนวด และครีมบำรุงรอบดวงตา กับหน้าที่ในการปรับค่า pH ไม่ให้เป็นกรด-ด่าง มากเกินไป ซึ่งหากร่างกายได้รับในปริมาณน้อยก็ไม่เกิดอันตราย แต่หากสะสมในปริมาณมาก อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้ อย่างไรก็ดี หญิงตั้งครรภ์ควรเลี่ยง เพราะเป็นสารเคมีที่มีผลต่อทารกในครรภ์ในช่วงพัฒนาการทางสมอง

4. IPM (Isopropyl Myristate)

เป็นสารเคมีที่ใช้กันมากในวงการเครื่องสำอาง กับคุณสมบัติในการเคลือบผิวเพื่อเก็บรักษาความชุ่มชื้น อย่างไรก็ดี จากการทดลองในสัตว์ พบว่า สารเคมีชนิดนี้ทำให้เกิดการอุดตันที่รูขุมขน ซึ่งอาจทำให้ผิวระคายเคือง และทำให้เกิดปัญหาผิวหนังได้

5. Polyethylene

สารเคมีชนิดนี้ พบมากในเครื่องสำอางจำพวกสครับ เนื่องจากเป็นพลาสติกที่ลื่นมัน ยืดหยุ่นได้ดี จึงใช้เป็นเม็ดสครับผิวได้ แต่เนื่องจากเป็นสารเคมีจำพวกพลาสติก จึงถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมในของใช้ต่าง ๆ เช่น ขวดใส่สารเคมี ขวดใส่น้ำ บรรจุภัณฑ์ ฉนวนไฟฟ้า หรือแม้แต่เก้าอี้ ซึ่งแม้จะไม่สามารถซึมผ่านสู่ผิวหนังได้ แต่ก็อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว และไม่เป็นมิตรกับร่างกาย

6. Imidazolidinyl and Diazoliddinyl Urea

สารกันเสียชนิดนี้ถูกนำมาใช้ทั่วไปในกลุ่มเครื่องสำอาง กับหน้าที่ในการกำจัดแบคทีเรีย หรือจุลชีพต่าง ๆ แต่ด้วยการสลายตัวที่ทำให้เกิดสารฟอมาลดีไฮด์ (Formaldehyde) จึงทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และระบบหายใจได้ ซึ่งพิษสะสมอาจทำให้การทำงานของเซลล์ร่างกายผิดปกติ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง

7. Paraben

คือสารกันเสียที่นิยมใช้อย่างมากในกลุ่มเครื่องสำอางจำพวกผิวหนังและเส้นผม รวมถึงผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น หรือโรลออน เพราะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แต่เนื่องจากเป็นสารเคมีที่พบในผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทที่ง่ายต่อการสะสมในร่างกาย หลายองค์กรจึงรณรงค์ให้เลี่ยงการใช้พาราเบนที่พบว่าเสี่ยงต่อการระคายเคืองผิว อาจขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ และอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม

8. SLES (Sodium Laureth Sulfate)

คือสารเคมีที่นิยมเติมลงในเครื่องสำอางจำพวกแชมพู หรือเจลอาบน้ำเพื่อทำให้เกิดฟองและลดแรงตึงผิว สามารถพบได้ในแชมพูเกือบทุกประเภท ด้วยผู้บริโภครู้สึกว่าสามารถกำจัดไขมันออกจากผิว และผมอย่างหมดจด แต่แท้จริงแล้ว สารลดแรงตึงชนิดนี้มีส่วนเสียคือ มีฤทธิ์ทำให้กระบวนการป้องกันผิวและดูแลเส้นผมตามธรรมชาติอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการระคายเคือง และหากกระบวนการผลิตมีการปนเปื้อนก็อาจเป็นสารก่อมะเร็งได้

9. Artificial Color

มีเครื่องสำอางจำนวนไม่น้อยที่ใช้สีในการเติมแต่งเพื่อให้เกิดความงาม น่าใช้ บางชนิดเป็นสารเคมีสังเคราะห์ และบางชนิดเป็นสีที่ใช้ในอาหาร (Food grade - ซึ่งค่อนข้างมีความปลอดภัย) อย่างไรก็ดี ย่อมเป็นการปลอดภัยกว่าในการงดการใช้สีที่มาจากการสังเคราะห์ทุกประเภท เนื่องจากอาจมีสารหนัก รวมทั้งสารหนูและสารตะกั่ว อันเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง

10. Silicone

ซิลิโคนมีลักษณะคล้ายยาง มีความยืดหยุ่นสูงและมีอยู่หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับประเภทใช้งาน แต่ถูกนำมาใช้ในวงการความงามอย่างแพร่หลาย โดยในเครื่องสำอางนั้น มักถูกนำมาใช้กับครีมนวดผมเพื่อให้รู้สึกนุ่มลื่น ช่วยเคลือบบำรุงเส้นผมให้ดูเงางาม นุ่มสลวย แต่อาจเกิดการสะสมในตับและต่อมน้ำเหลืองหากใช้ในปริมาณมาก ซึ่งสามารถเป็นตัวเร่งการเกิดเนื้องอกและมะเร็งได้

11. Petroleum Derivative

เป็นสารเคมีที่ได้มาจากการแยกน้ำมันปิโตรเลียม มักถูกนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหลายประเภท อาทิ ครีมรองพื้น โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิว เพื่อทำหน้าที่เก็บกักความชุ่มชื่นผิวโดยการเคลือบผิวไว้ แต่ด้วยความที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่และผ่านกรรมวิธีทางเคมี จึงอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง อุดตันผิว และเกิดสิวได้ และหากเก็บกักสะสม อาจเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของผิว และทำให้ฮอร์โมนและภูมิคุ้มกันในเพศหญิงอ่อนแอ

12. Synthetic Polymer

โพลิเมอร์มีสารตั้งต้นจากพลาสติก ที่ผ่านกระบวนการทางเคมีให้มีความเหนียวนุ่ม ยืดหยุ่น นิยมนำมาทำบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมทั้งเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อาทิ ครีมนวดผม หรือเจลแต่งทรงผม ทำหน้าที่หลากหลายขึ้นอยู่กับการใช้งาน อาทิ การเพิ่มเนื้อสัมผัส การเคลือบผิว หรือการเก็บรักษาความชุ่มชื้น อย่างไรก็ตาม มีสารโพลิเมอร์บางชนิดสามารถหาได้จากพืช อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด และมะพร้าว ซึ่งเป็นมิตรกับธรรมชาติและเหมาะสมกับร่างกายของเรามากกว่า

13. PEG (Polyethylene Glycol)

เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อทดแทนสารเพิ่มความชุ่มชื้น มักถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ความงามจำพวกทำความสะอาดและบำรุงผิว โดยสถาบันเผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัตถุในสหรัฐอเมริกา (III) ได้ออกคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีชนิดนี้ เพราะระคายเคืองต่อผิวสูง และอาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติในตับและไต และอาจเกิดการปนเปื้อนจากการผลิตซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับและจมูก


14. Quats

คือสารชะล้างที่มักนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ขัดล้างต่าง ๆ อาทิ น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาขัดพื้น และนำมาใช้กับเครื่องสำอางจำพวกแชมพู หรือเจลอาบน้ำทั้งหลาย เพื่อให้รู้สึกถึงการทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นสารเคมีรุนแรง จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผิวเกิดผดผื่น แพ้ และทำลายระบบทางเดินหายใจหากใช้ในปริมาณสูงและใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ผลิตภัณฑ์ที่ดี ควรสกัดมาจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะพร้าว ผัก หรือผลไม้ ซี่งผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน ส่วนมากมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบหลักอยู่แทบทุกชนิด เช่น สารกันเสียที่มากเกินไป หรือสารอื่น ๆ ที่เรายังไม่รู้ และเป็นอันตรายต่อผิวหนัง ดังนั้นก่อนซื้อควรทดลองกับผิวบริเวณแขนของตัวเองก่อน ถ้าทาแล้วไม่รู้สึกระคายเคือง หรือไม่มีอาการคัน ก็สามารถใช้ได้

ที่สำคัญ การเลือกซื้อเครื่องสำอาง ไม่ควรซื้อเพราะเห็นคนอื่นใช้แล้วดี แต่ควรดูสภาพผิวของตัวเองด้วยว่า เหมาะสมหรือไม่ อีกอย่างไม่ควรซื้อเกินกำลังของตัวเอง และนอกจากนี้ยังมีสมุนไพรไทย เช่น ขมิ้น ว่านหางจระเข้ สามารถนำมาขัด และบำรุงผิวได้เหมือนกัน โดยไม่มีสารเคมี แถมหาได้ง่าย หรือถ้าจะล้างเครื่องสำอางออก วิธีง่ายๆ ก็คือ ใช้น้ำมันมะพร้าวเช็ด และล้างน้ำออก ซึ่งได้ผลดีเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น