วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ความปลอดภัยในโรงงานผลิต กรด-ด่าง

คู่มือความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรด-ด่าง

                                นับช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้มีการผลิตสารเคมีซึ่งมีคุณสมบัติไวไฟระเบิดได้  เป็นพิษ  กัดกร่อน  เป็นต้น  โรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรด - ด่าง  เช่น  กรดกำมะถัน (Sulfuric acid ; H2SO4)  กรดเกลือ (Hydrochloric acid ; HCl)  กรดดินประสิว (Nitric acid ; HNO3)  กรดกัดแก้ว (Hydrofluoric acid ; HF)  โซดาไฟ (Sodium hydroxide ; NaOH)  เป็นโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานที่ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการอุตสาหกรรมประเภทอื่นอย่างต่อเนื่อง  สถานที่ตั้งโรงงานเหล่านี้มักอยู่กระจัดกระจายทั้งในปริมณฑลและต่างจังหวัด


                              



     โรงงานอุตสาหกรรมผลิตกรด-ด่างจัดได้ว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่งที่มีอันตรายค่อนข้างสูง  มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย  ระเบิด  สารเคมีที่เป็นพิษและกัดกร่อนจากการรั่วไหล  อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งโรคอันเนื่องจากการทำงานได้  หากขาดมาตรการในการจัดการและดำเนินการที่ปลอดภัยรวมทั้งความรู้เบื้องต้นถึงอันตรายและการป้องกันอันตรายจากสารเคมีแต่ละชนิด  ดังนั้น  คู่มือความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมกรด-ด่าง  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติทางด้านความปลอดภัย  ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย  ในส่วนของการผลิต  การจัดเก็บ  การขนส่งและการใช้อย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติภัยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
ความหมายของกรด-ด่าง
                                กรด-ด่าง หรือสารกัดกร่อน  หมายถึง  สารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนต่อโลหะ  หรือทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อ  ผิวหนังเมื่อสัมผัสโดยตรงหรือจากการสูดดมหายใจเข้าไป  ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีนั้น ๆ
                                กรด  (Acid)  มาจากภาษาลาตินคำว่า  acidus  แปลว่า  เปรี้ยว  ซึ่งเป็นคุณสมบัติประจำตัวของกรดแต่ทางเคมีหมายถึงสารที่ให้โปรตรอน  (H+)  เช่น

                                                                HCl                         H+ + Cl-
                                                                H2SO4                    2H+ + SO4=

                                กรดแบ่งออกเป็น 2 จำพวก
  • - กรดอนินทรีย์ (Inorganic acid) เช่น กรดกำมะถัน กรดเกลือ กรดดินประสิว กรดกัดแก้ว
  • - กรดอินทรีย์ (Organic acid) ที่มี Carboxylic group (-COOH) เช่น Acetic acid, Formic acid, Lactic acid, Lavric acid, Maleic acid เป็นต้น
กรดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
          - กรดแก่ หมายถึง กรดที่สามารถให้โปรตรอนออกมาได้มากหรือแตกตัวเป็นอิออนได้อย่างสมบูรณ์
          - กรดอ่อน นั้นจะแตกตัวเป็นอิออนได้ไม่สมบูรณ์
            กรดเข้มข้น  หมายถึง  กรดที่มีจำนวนโมลของกรดมากใน 1 หน่วยปริมาตรของน้ำ 
            ความแรงของกรดพอจะจัดลำดับ  ได้ดังนี้
                HClO4 ,  H2SO4 , HCl , HNO3 , H3PO4 , HNO2 , HF , CH3COOH , H2CO3 , HCN , H3BO3
                                                มาก                                 ความแรง                             น้อย

                                กรดเจือจางทำได้โดยการเทกรดลงในน้ำอย่างช้า ๆ  พร้อมทั้งกวนให้เข้ากันหรือที่เรียกกันว่าการละลายกรดในน้ำจะเกิดความร้อนขึ้น  ความร้อนนั้นจะแพร่กระจายไปทั่วในน้ำ  กฎข้อห้ามจะไม่เทน้ำลงในกรด
                                ด่างที่มีฤทธิ์กัดกร่อนมากส่วนใหญ่จะเป็นสารอนินทรีย์  ด่างที่เข้มข้นมากจะเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อ  เช่น  โซเดียมไฮดรอกไซด์  แอมโมเนีย  ด่างจะเป็นอันตรายต่อตามากกว่ากรด
การจำแนกสารเคมีตามลักษณะและรูปร่างได้ดังนี้
                                1. ฝุ่น (Dust)  หมายถึง  สารเคมีที่เป็นอนุภาคของแข็งที่มีขนาดเล็ก ๆ เกิดขึ้นจากการที่ของแข็งถูกบด  ตี  กระแทก  เช่น  ฝุ่นกำมะถันดิบ  ฝุ่นเกลือ  ฝุ่นแร่สปาร์ (CaF2)  เป็นต้น
                                2. ฟูม (Fume)  หมายถึง  อนุภาคที่เป็นของแข็งซึ่งมีขนาดเล็ก ๆ  เกิดจากการกลั่นตัวของไอโลหะ เมื่อโลหะได้รับความร้อนจากการหลอมเหลว  เช่น  ฟูมตะกั่ว  ฟูมสังกะสี  เป็นต้น
                                3. ละออง (Mist)  หมายถึง  อนุภาคเล็ก ๆ ที่เป็นของเหลวและแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศ เกิดจากการที่ของเหลวได้รับความดันจนเกิดการแตกตัวของอนุภาค  บางครั้งละอองเล็ก ๆ อาจเกิดจากการกลั่นตัวของไอหรือก๊าซก็ได้  เช่น  ละอองเล็ก ๆ ที่เกิดจากไอของกรดกำมะถัน  เป็นต้น
                                4. ไอระเหย (Vapor)  เป็นลักษณะของไอหรือก๊าซที่เกิดจากของเหลวหรือของแข็งเปลี่ยนสถานะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและ/หรือมีการเปลี่ยนแปลงความดัน  เช่น  ไอระเหยของน้ำมันเบนซิน  ทินเนอร์  แอลกอฮอล์  เป็นต้น
                                5. ก๊าซ (Gas)  หมายถึง  ของไหลที่ไม่มีรูปร่างที่แน่นอนขึ้นอยู่กับภาชนะที่ใช้บรรจุ  สามารถเปลี่ยนเป็นของเหลวหรือของแข็งได้โดยการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและ/หรือความดัน  เช่น  ก๊าซไฮโดรเจน  ไฮโดรเจนซัลไฟด์  ซัลเฟอร์ไดออกไซด์  แอมโมเนีย  เป็นต้น
                                6. ของเหลว (Liquid)  หมายถึง  ของไหลที่เป็นของเหลวมีรูปร่างไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับภาชนะที่ใช้บรรจุ  เช่น  กรดกำมะถัน  กรดไนตริก  กรดเกลือ  เป็นต้น

การเข้าสู่ร่างกายของสารเคมี  (Route of entry)  สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ทางใหญ่ ๆ ด้วยกัน  คือ
                                1. โดยทางหายใจ (Inhalation) เป็นทางเข้าสู่ร่างกายของสารเคมีมากที่สุด  สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทุกประเภท  ทั้งนี้  เนื่องจากการเปรอะเปื้อนของสารเคมีในบรรยากาศและมนุษย์ต้องหายใจอยู่ตลอดเวลา
                                2. โดยการกิน (Ingestion)  เป็นทางเข้าสู่ร่างกายของสารเคมีน้อยมาก  สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทุกประเภท  นอกจากการเกิดอุบัติเหตุ  การขาดสุขอนามัย  เช่น  ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร  ดื่มน้ำหรือสูบบุหรี่ขณะปฏิบัติงาน
                                3. โดยการดูดซึมทางผิวหนัง  (Dermal absorption)  ปกติผิวหนังจะมีชั้นไขมันทำหน้าที่ป้องกันการดูดซึมของสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย  แต่กรด-ด่าง  มีฤทธิ์กัดกร่อนสามารถทำลายผิวหนังและชั้นไขมันทำให้ผิวหนังเป็นแผลไหม้  เกิดการระคายเคือง  อาการคัน  แสบร้อนและผิวหนังอักเสบตรงบริเวณนั้น ๆ

หลักในการป้องกันอันตรายจากสารเคมี
                                1. การป้องกันที่แหล่งกำเนิด (Source)  เป็นหลักการทั่วไปที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก  ทั้งนี้ถือว่าเป็นการป้องกันที่ให้ประสิทธิภาพมากที่สุด  และเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร  แต่มีข้อจำกัดต้องลงทุนสูงและใช้เทคนิคที่ยุ่งยาก  วิธีป้องกันอันตรายที่แหล่งกำเนิดมีดังต่อไปนี้
                                                1.1 ใช้สารเคมีอื่นที่มีพิษน้อยกว่าแทน  เช่น  การใช้สารไซลีนแทนสารเบนซิน เพราะสารไซลีนมีอันตรายต่อเม็ดเลือดน้อยกว่าสารเบนซินมาก  แต่มีคุณสมบัติเป็นตัวละลายได้เหมือนกัน
                                                1.2 เปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่  เช่น  เซลไฟฟ้าแบบปรอท (Mercury cells)  มีปรอทออกมาและเซลไฟฟ้าแบบไดอะแฟรม (Diaphragm cells)  มีฝุ่นแอสเบสตอสออกมาอาจเกิดอันตรายกับสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมได้  จึงเปลี่ยนกระบวนการผลิตมาใช้เซลไฟฟ้าแบบเมมเบรน (Membrane cells)  เป็นต้น
                                                1.3 แยกกระบวนการผลิตที่มีอันตรายออกต่างหาก  ทั้งนี้  เพื่อกำจัดการฟุ้งกระจายไม่ให้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง  เช่น  การแยกบริเวณที่มีฝุ่นมากออกต่างหาก  แยกบริเวณที่มีก๊าซไฮโดรเจนออกจากบริเวณที่เป็นแหล่งประกายไฟ  ความร้อน  เป็นต้น
                                                1.4 การสร้างภาชนะปกปิดกระบวนการผลิตหรือแหล่งของสารเคมีให้มิดชิด  ทั้งนี้  เพื่อไม่ให้สารเคมีฟุ้งกระจายออกไปยังบริเวณโดยรอบ
                                                1.5 การติดตั้งระบบดูดอากาศเฉพาะที่  เช่น  การสร้างประทุน (Hood) ดูดไอกรดจากการบรรจุเพื่อไปกำจัดในระบบกำจัด (Wet scrubber) ต่อไป
                                                1.6 การบำรุงรักษาเครื่องจักร  อุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ดี  สะอาดและเรียบร้อยอยู่เสมอ  ทั้งนี้  เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีแพร่กระจายหรือรั่วไหลออกไปหรือเป็นที่สะสมของสารเคมีต่าง ๆ
                                2. การป้องกันที่ทางผ่าน (Path)  ควรพิจารณาเป็นอันดับสองรองจากการป้องกันที่แหล่งกำเนิดไม่สามารถดำเนินการได้
                                                2.1 การบำรุงรักษาสถานที่ทำงานให้สะอาดเรียบร้อย  เพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของสารเคมี  เช่น  บริเวณทำงานที่มีฝุ่นมาก  ถ้าไม่ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอปล่อยให้ฝุ่นสะสมอยู่ตามที่ต่าง ๆ เมื่อเกิดกระแสลมพัดก็จะฟุ้งกระจายไปทั่ว
                                                2.2 ติดตั้งระบบระบายอากาศทั่วไป  ซึ่งอาจจะเป็นวิธีทางธรรมชาติ  เช่น  มีประตู  หน้าต่างและช่องลมช่วยระบายอากาศหรืออาจเป็นวิธีใช้เครื่องกล  เช่น  การใช้พัดลมเป่าดูดอากาศออกจากบริเวณนั้น ๆ ซึ่งวิธีปกติ Plant ผลิตกรด-ด่าง จะถูกออกแบบให้อยู่กลางแจ้งเพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดีตามธรรมชาติ
                                                2.3 เพิ่มระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารเคมีกับตัวบุคคลที่อาจได้รับอันตรายจากสารเคมีให้ห่างกันออกไปมากขึ้นเพราะสารเคมีจะมีอันตรายหรือความเข้มข้นน้อยลงไปเรื่อย ๆ เมื่อผู้ปฏิบัติงานเดินออกห่างจากแหล่งกำเนิดเรื่อย ๆ หรือปฏิบัติงานในห้องควบคุม (Control room)
                                                2.4 การตรวจหาระดับหรือปริมาณของสารเคมีในบรรยากาศของการทำงานเป็นประจำ  ทั้งนี้  เพื่อเปรียบเทียบความเข้มข้นของสารเคมีนั้น ๆ กับมาตรฐานความปลอดภัย ถ้าตรวจพบว่าปริมาณของสารเคมีในบรรยากาศมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยต้องรีบหาทางปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว
                                3. การป้องกันอันตรายที่ตัวคน  (Personal or Receiver)
                                การป้องกันอันตรายที่ตัวบุคคลนั้นควรจะพิจารณาเป็นอันดับสุดท้าย  ทั้งนี้  เพราะถึงแม้จะมีข้อดี  คือ  เสียค่าใช้จ่ายต่ำและปฏิบัติง่าย  แต่พบว่าเป็นวิธีที่ให้ประสิทธิภาพต่ำมาก  ยากในการควบคุมและเป็นการแก้ไขแบบไม่เบ็ดเสร็จ  หลักทั่วไปในการป้องกันอันตรายที่ตัวบุคคลมีดังต่อไปนี้
                                                3.1 การให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่ผู้ปฏิบัติงานให้ทราบถึงอันตรายจากสารเคมีที่กำลังเกี่ยวข้องอยู่  ตลอดจนให้ทราบถึงวิธีการป้องกันอันตรายจากสารเคมีนั้น ๆ รวมทั้งต้องมีการติดตามผลอยู่เสมอ
                                                3.2 การลดชั่วโมงการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายให้สั้นลง  ทั้งนี้  เพราะอันตรายจากสารเคมีนั้นนอกจากจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารเคมีและองค์ประกอบอื่น ๆ แล้วยังขึ้นกับระยะเวลาที่ได้รับหรือสัมผัสกับสารเคมีนั้น ๆ ด้วย
                                                3.3 การหมุนเวียนหรือสับเปลี่ยนหน้าที่การปฏิบัติงาน  โดยให้พนักงานได้รับสารเคมีในบางโอกาสเท่านั้น  ไม่ใช่ประจำอยู่หน้าที่เดียวตลอดไป  เพราะจะช่วยให้การได้รับอันตรายถูกแบ่งออกไปยังพนักงานต่าง ๆ ทำให้พนักงานแต่ละคนมีเวลาขับสารเคมีออกจากร่างกายมากขึ้น  เนื่องจากระยะเวลาที่ได้รับสารเคมีจะสั้นลง  วิธีนี้อาจมีขีดจำกัดในทางปฏิบัติเพราะการปฏิบัติงานบางชนิดจะไม่สามารถหมุนเวียนกันได้  เช่น  งานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษสูง  แต่ถ้าหมุนเวียนพนักงานได้ก็จะช่วยลดอันตรายลงได้วิธีหนึ่ง
                                                3.4 การให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานอยู่ในห้องควบคุมพิเศษ  เช่น  อยู่ในห้องปรับอากาศเพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่น  เป็นต้น  ตัวอย่างคนขับรถปั้นจั่นมักจะมีห้องเฉพาะที่ซึ่งมีเครื่องปรับอากาศให้เพราะจะทำให้คนขับรู้สึกเย็นสบายและช่วยป้องกันอันตรายจากฝุ่น  ฟูม  ก๊าซ  หรือไอระเหยของสารเคมี  เป็นต้น
                                                3.5 การตรวจสุขภาพร่างกายผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีก่อนรับเข้าทำงาน  เพื่อค้นหาโรคหรือสิ่งบกพร่องทางสุขภาพ  ซึ่งจะช่วยเลือกคนให้เหมาะสมกับงานด้านสารเคมีและยังต้องตรวจสุขภาพพนักงานเป็นระยะภายหลังที่ได้เข้าปฏิบัติงานแล้ว  เพื่อติดตามผลที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากทำงานเกี่ยวกับสารเคมีถ้าพบสิ่งผิดปกติหรือพบอันตรายจะได้รีบแก้ไขได้ทันท่วงที
                                                3.6 การใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล  เช่น  ที่ปิดปากและจมูกหรือเครื่องป้องกันอันตรายจากการหายใจ  ผ้ากันเปื้อน  ถุงมือ  ร้องเท้า  แว่นตาและที่ครอบหน้า  เครื่องป้องกันเหล่านี้ถึงแม้จะใช้ง่ายและราคาถูกแต่ต้องตระหนักถึงปัญหาความไม่สะดวกหรือรำคาญจากการสวมใส่อุปกรณ์เหล่านั้น  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่พนักงานไม่ยอมสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว  แต่ถ้ามีแผนการเลือกซื้อ  การฝึกอบรม  การชักจูงส่งเสริม  การใช้อย่างถูกต้อง  ตลอดจนการทำความสะอาดและบำรุงรักษาอย่างดีแล้ว  การใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลดังกล่าวก็สามารถป้องกันอันตรายได้ดีพอสมควรทีเดียว
                                                3.7 ติดตั้งก็อกน้ำ  ฝักบัว  ชำระร่างกาย (Shower)  ที่ล้างตา  (Eye wash)  และอุปกรณ์การปฐมพยาบาลต่าง ๆ เพื่อสามารถใช้ได้ทันทีเมื่อมีการได้รับอันตรายจากสารเคมีในขณะทำงาน
                                วิธีการป้องกันอันตรายทั้ง 3 วิธี ที่กล่าวมานั้นจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันในทางปฏิบัติพบว่าโดยทั่วไปจะไม่มีวิธีไหนให้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์  ดังนั้น  จึงพิจารณาใช้ทั้ง 3 วิธีร่วมกันไปจึงจะได้ผลและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

หลัก 3E เพื่อความปลอดภัย
                                1. Engineering   คือการใช้ความรู้ทางวิชาการด้านวิศวกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการคำนวณออกแบบเครื่องจักร  อุปกรณ์ที่มีสภาพการใช้งานที่ปลอดภัยที่สุดขณะใช้งานในสภาวะปกติ  การเลือกใช้วัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อน  อุณหภูมิและความดันที่เหมาะสมและจะต้องพิจารณาออกแบบเครื่องป้องกันอันตราย (Machine guarding)  ใช้สำหรับปกปิดหรือปิดกั้นส่วนที่เป็นอันตรายมิให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเข้าไปสัมผัสได้  นอกจากนั้นยังสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน  เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน  เช่น  การใช้ฉนวนหุ้มเพื่อป้องกันการแผ่รังสีความร้อน  เสียงดัง  การระบายอากาศ  การจัดแสงสว่างให้เหมาะสม  เป็นต้น  หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะต้องทำการสอบสวน  วิเคราะห์อุบัติเหตุทันที  เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุ  เพื่อจะได้นำไปหาวิธีป้องกันมิให้อุบัติเหตุลักษณะเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก
                                2. Education  คือ  การให้การศึกษา  อบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้  ความสามารถในการทำงานให้เพิ่มมากขึ้น  ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุ  การเสริมสร้างจิตสำนึกความปลอดภัย  ความรู้เกี่ยวกับสารเคมี  อันตรายและการป้องกันอันตรายจากสารเคมี  และจะต้องให้ความรู้ตั้งแต่ก่อนเข้าปฏิบัติงานโดยการฝึกอบรม  หรือสอดแทรกความรู้ประสบการณ์ควบคู่ไปกับการสอนขั้นตอนการปฏิบัติงานปกติ  ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น  การชี้แจงถึงอันตรายในแต่ละขั้นตอนการทำงานพร้อมทั้งแนะนำวิธีการป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุการกระตุ้นให้ตระหนักถึงอันตรายอยู่ตลอดเวลา
                                3. Enforcement  คือ  การออกกฎ  ระเบียบ หรือข้อบังคับ  เพื่อความปอลดภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานในกลุ่มคนหมู่มาก  รวมทั้งมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย  (SOP)  เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติทางเดียวกันและเป็นมาตรการควบคุม  บังคับให้พนักงานปฏิบัติ  โดยประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน  หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ  เพื่อให้เกิดความสำนึกและหลีกเลี่ยงการทำงานที่ไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อไป
                                การนำหลัก 3E ไปปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานนั้นจะต้องดำเนินการทั้ง 3E  พร้อม ๆ กัน  จึงจะทำให้การป้องกันอุบัติเหตุได้ผล  โดยเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบ  การเลือกอุปกรณ์  วัสดุ  การติดตั้ง  การทดสอบที่ปลอดภัย  ขณะเดียวกันก็ต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการและขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย  รวมทั้งกฎ  ระเบียบ  ข้อบังคับ  บทลงโทษให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น